ผู้ชมทั้งหมด 661
ปตท. ยืนยันปริมาณสำรอง LNG 8 หมื่นตันเดือน ส.ค. 65 เพียงพอป้อนกฟผ. เสริมความมั่นคงผลิตไฟฟ้า ขณะที่เดือน ก.ย. 65 เตรียมนำเข้าอีก 6 ลำเรือ ประมาณ 4.8 แสนตัน
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับวงกว้างในบางพื้นที่ (Partial Blackout) เนื่องจากปริมาณสำรองเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้ง ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และน้ำมันดีเซล อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติ โดยระบุว่า ปัจจุบันมีปริมาณสำรอง LNG อยู่ราว 80,000 ตัน สำหรับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงพอใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้า Partial Blackout อย่างแน่นอน
ส่วนในเดือนกันยายน 2565 ปตท.ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้นำเข้า LNG จำนวน 6 ลำเรือ แต่ละลำสามารถบรรจุได้ประมาณ 80,000 ตัน รวมการนำเข้า LNG ในช่วงเดือนกันยายนนี้ประมาณ 4.8 แสนตัน รองรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้การนำเข้า LNG ในจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นโควตาที่อยู่ในสัดส่วน 4.5 ล้านตันที่เป็นส่วนเพิ่ม
ขณะที่เดือนตุลาคม 2565 ปตท. อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับกฟผ. ว่าจะมีความต้องการนำเข้า LNG ในปริมาณเท่าไหร่ เพราะต้องคิดส่วนต่างหลังจากนำน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลมาชดเชยบางส่วนในการผลิตไฟฟ้าช่วงที่ LNG มีราคาสูง และต้องเสนอให้กกพ.พิจารณาอนุมัติอีกที
“การพิจารณานำเข้า LNG ส่วนเพิ่มต้องพิจารณานำเข้าเดือนต่อเดือนตามที่กกพ.กำหนด เนื่องจากกกพ.กังวลเรื่องราคาที่มีความผันผวนอยู่ในระดับสูงจึงต้องให้พิจารณาในแต่ละเดือน และเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่ LNG มีราคาสูงขึ้น” นายวุฒิกร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคา LNG ในปัจจุบันปรับตัสูงขึ้นเฉลี่ย 52-58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณ 8 บาทต่อหน่วย ในขณะช่วงที่ LNG มีราคาสูงนั้นภาครัฐมีนโยบายให้ กฟผ. ใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าทดแทนในบางโรง ซึ่งการใช้น้ำมันดีเซลปัจจุบันคิดเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าประมาณ 4-5 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าลงได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการบริหารจัดการขนส่งดีเซลเติมใส่ถังเก็บในโรงไฟฟ้าตลอดเวลา เพราะถังเก็บดีเซลมีอยู่จำกัด
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าของ กฟผ.นั้นต้องการดีเซลมาเติมสำรองในถังไว้ประมาณ 10-11ล้านลิตรต่อวัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการขนส่งของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่จัดส่งน้ำมันให้โรงไฟฟ้าทางท่อได้ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ทางรถบรรทุกได้อีกประมาณ 2 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้โรงไฟฟ้าขาดเชื้อเพลิงดีเซลในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า