ปตท. คว้าอันดับ 1 บริษัทชั้นนำในไทย และอันดับ 2 ในอาเซียน จากนิตยสารฟอร์จูน

ผู้ชมทั้งหมด 849 

สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ ความผันผวนราคาพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของไทย ได้เร่งวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อรับมือต่อปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดยเร่งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลให้ปี 2566 ผลประกอบการของ ปตท. มีกำไร 112,023.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปี2565 ที่มีกำไร 91,174.85 ล้านบาท

โดยกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ประกอบกับในปี 2566 กลุ่มปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566

ขณะที่สถานะการเงินของ ปตท.ถือว่า แข็งแกร่ง โดย ปตท. และบริษัทย่อย ณ 31 ธ.ค. 2566 มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,460,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44,830 ล้านบาท หรือ 1.3% จาก ณ 31 ธ.ค. 2565 ที่มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,415,632 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2566 ส่งผลให้ ปตท. ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทชั้นนำอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน จากนิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ที่จัดอันดับบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 500 (Fortune Southeast Asia 500) เป็นครั้งแรก โดยประเมินจากผลการดำเนินงานด้านการเงินในปีงบประมาณ 2566 และทิศทางการเติบโตขององค์กร สะท้อนการเป็นบริษัทชั้นนำที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เล่าว่า ผลการจัดอันดับดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และ  การกำกับดูแลกิจการที่ดี บนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” สะท้อนกลยุทธ์การดำเนินงานที่เข้มแข็งในหลายมิติ ได้แก่ การสร้างการเติบโตในธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ทั้งธุรกิจสำรวจและผลิต ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และ ธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ หรือ New S-Curve ผ่านธุรกิจ EV ธุรกิจ Logistics ธุรกิจ Life Science และ ธุรกิจ Industrial AI 

อีกทั้ง ปตท. มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางสร้างความยั่งยืน ในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) 

“ปตท. ภาคภูมิใจที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่เติบโตที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทที่เติบโตเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

สำหรับนิตยสารฟอร์จูน เป็นนิตยสารธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเงิน ที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากทั่วโลก โดยได้เริ่มจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลก 500 อันดับ (Fortune Global 500) เป็นครั้งแรกในปี 2498 และจัดอันดับเฉพาะในภูมิภาคต่างๆ ในทวีปยุโรป (Fortune 500 Europe) และล่าสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ และแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน การเติบโต และทิศทางของธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสในการขยายตลาด ที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินในปี 2566 ที่แข็งแกร่ง คณะกรรมการ ปตท. จึงมีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท โดยได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อก.ย. 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) 29 ก.พ. 2567 วันที่จ่ายปันผล 30 เม.ย.2567

โดยกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์รับปันผลรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจปี 2566 ให้กับรัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท

อีกทั้ง ในปี 2566 ปตท. ยังมีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน จุดพลังพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน 

โดยด้านพลังงานแห่งอนาคต มีการต่อยอดสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้รองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก จัดตั้งโรงงาน NV Gotion ผลิตชุดแบตเตอรี่ ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้ง Aionex จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มจุดติดตั้ง EV Charging Station แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ด้านธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ทาง บริษัท NRPT เปิดตัว Plant & Bean ประเทศไทย โรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนพืช 100% ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก BRCGS Plant-based ที่แรก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Innobic Nutrition เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดการขนส่งสินค้าทางรางเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและภูมิภาคอาเซียน และเตรียมงบลงทุน ประจำปี 2567 – 2571 จำนวน 89,203 ล้านบาท มุ่งผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า

ด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปตท. ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 86,173 ไร่ ใน 25 จังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มที่ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเกษตรกรรมใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 31.59 ล้านบาท และโครงการสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกกว่า 5.75 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปตท. ยังร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงวิกฤต ผ่านการดำเนินงาน อาทิ โครงการลมหายใจเดียวกันและลมหายใจเพื่อน้อง,การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล ,การตรึงราคา NGV ,การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ,การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน, การขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เป็นต้น คิดเป็นการช่วยเหลือรวม ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 มูลค่ากว่า 31,060 ล้านบาท ที่ส่งคืนให้กับประเทศไทย