ผู้ชมทั้งหมด 590
“ปตท. ผนึก กฟผ.” ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯโรงไฟฟ้าน้ำพอง มูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาท รองรับโรงงานทดแทนเข้าระบบปี 2568 เสริมความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
วันนี้ (20 กันยายน 2564) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพองฉบับใหม่ ระยะเวลา 10 ปี (2564 – 2574) มูลค่ากว่า 53,000 ล้านบาท เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อร่วมกันบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้สำเร็จลุล่วงมาโดยตลอด ซึ่งสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ฉบับใหม่นี้ จะสอดรับกับสัญญาเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2568 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใช้ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศจากแหล่งสินภูฮ่อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามสัญญาเพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้แก่ กฟผ. เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดและถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับพันธกิจของ ปตท. และ กฟผ. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าน้ำพองจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการสมาร์ทซิตี้ จ.ขอนแก่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ความร่วมมือของทั้ง ปตท. และ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งในการดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ ปตท. ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดหาและบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากว่า 40 ปี และ กฟผ. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความมั่นคงทางพลังงานและสามารถพัฒนาความเป็นอยู่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ