“บ้านปู” จ่อชิงเค้กโครงการโซลาร์ฟาร์มบวกแบตเตอรี่ 50-100 MW

ผู้ชมทั้งหมด 722 

“บ้านปู” เตรียมส่งบริษัทลูก “บ้านปู เน็กซ์” ร่วมแข่งยื่นเสนอขายไฟฟ้าโครงการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มผสมแบตเตอรี่ เดือน พ.ย.นี้ หวังชิงโควตาผลิตไฟ 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 50-100 เมกะวัตต์ พร้อมนำเข้ารถอีวี ค่าย BYD จำนวน 250 คัน ขนส่งพัสดุป้อน “ไปรษณีย์ไทย” หลังคว้าประมูลงาน คาดเริ่มรับรู้รายได้ปี 66

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ระบุว่า กลุ่มบ้านปู มีแผนที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยสอดคล้องตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานของภาครัฐ โดยเตรียมส่งบริษัทลูก คือ บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573  รวมปริมาณรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ของภาครัฐ ที่กำหนดเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าได้ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565

โดยบริษัท สนใจโครงการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งคาดหวังจะได้โควตาผลิตไฟฟ้า รวมอยู่ที่ประมาณ 50 -100 เมกะวัตต์ จากโควตาทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากบริษัท ได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่ไว้แล้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ภาคเหนือ คือ บริเวณเหมืองบ้านปู (BP-1) อําเภอลี้ จังหวัดลําพูน ซึ่งเดิมเคยเป็นเหมืองถ่านหิน แต่หลังจากเลิกทำเหมืองแล้ว ก็ได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ ทำสวนป่า สวนผลไม้ และได้มีการศึกษาที่จะทำโซลาร์ฟาร์มฯ

2. พื้นที่ท่าเรือ ที่บริเวณท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สำหรับขนส่งถ่านหินและเก็ยสต็อกของบริษัท และก็ได้ดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว และ 3.พื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเดิมเตรียมไว้ทำนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ

“ก็เหมือนเป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ เพราะก็มีพื้นที่อยู่แล้ว แต่จะได้ดำเนินการกี่โครงการ ก็ยังต้องรอผลยื่นเสนอโครงการ น่าจะชัดเจนในต้นปีหน้า”

ส่วนเรื่องของการแข่งขันนั้น บริษัท มั่นใจว่า จะบริหารจัดการด้านต้นทุนได้ดี เนื่องจาก บ้านปู เน็กซ์ เวลามีการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ จะเป็นการจัดซื้อในล็อตใหญ่ ซึ่งก็มีพันธมิตรทั้งจากจีนและญี่ปุ่นที่เป็นซัพพลายเออร์ด้านแผงโซลาร์ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อกัน ขณะที่แบตเตอรี่ บริษัท ก็มีพันธมิตรคือ บริษัท ดูราเพาเวอร์ ที่เป็นผู้ผลิตป้อนให้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัท มุ่งเน้นขยายการลงทุนในลักษณะการนำเสนอโซลูชันพลังงานแห่งอนาคต (Energy Solutions Of The Future) เช่น การที่บ้านปู เน็กซ์ ได้ร่วมกับบริษัท ดูราเพาเวอร์ และบริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ จำกัด เตรียมจัดตั้งบริษัท เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในจังหวัดนครราชสีมา

โดยมี เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ถือหุ้นสัดส่วน 40% บ้านปู เน็กซ์ ถือหุ้น 30 % และดูราเพาเวอร์ ถือหุ้น 30% คาดจะใช้เงินลงทุนราว 1,400 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตสู่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 โดยระยะแรกจะมีกำลังผลิตเริ่มต้นที่ 200 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) คาดว่าปี 2566 ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่ ดังกล่าวจะป้อนให้กับ e-Bus เพื่อใช้งานในเครือบริษัทเชิดชัยฯ  และจำหน่ายให้ลูกค้า ทั้งหน่วยงานราชการ ธุรกิจรถทัวร์ เบื้องต้น รองรับรถ  e-Bus ประมาณ 2,000 คัน

“ความร่วมมือกับ เชิดชัยฯ เป็นการบริหารจัดการระบบบริหารจัดการยานพาหนะไฟฟ้า (EV Fleet Management) สร้างความแข็งแกร่งระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่สามารถต่อยอดขยายพอร์ตฟอลิโอให้กับ 3 กลุ่มธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ และธุรกิจพลังงานฉลาด อาทิ โซลูชันฉลาดผลิต หรือระบบโซลาร์ เป็นต้น โดยเรามีบทบาทในการศึกษาตลาด และความเป็นไปได้ในการนำแบตเตอรี่ ไปใช้กับโซลูชันพลังงานฉลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการสัญจรแบบครบวงจร หรือ Mobility as a Services (MaaS) เรียกได้ว่า เป็นการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า”

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ได้คว้างานประมูลบริหารจัดการรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อขนส่งพัสดุ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดเตรียมรายละเอียดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเบื้องต้น จะเป็นการนำเข้ารถEV แบรนด์ BYD จากจีน ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ รถสี่ล้อ และรถตู้ รวมจำนวน 250 คัน เพื่อนำมาให้บริการรองรับการขนส่งพัสดุ และจดหมายให้กับไปรษณีย์ไทย ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะระบบบริหารจัดการยานพาหนะไฟฟ้า (EV Fleet Management) ที่เป็นการจัดการเรื่อง รถ การซ่อมบำรุง และมีสถานีชาร์จใน Fleet เป็นต้น คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566 และน่าจะเริ่มรับรู้รายได้หลังจากเริ่มดำเนินงาน  

นอกจากนี้ เรื่องการพัฒนาสมาร์ทคอมมูนิตี้ หลังจากที่ บริษัท ได้เข้าไปดำเนินการที่ ภูเก็ต ในการจัดทำโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้เฟส 1 เป็นโครงการนำร่องติดตั้งระบบความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยี AI ระบบปฏิบัติการแบบ IoT ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในพื้นที่บริเวณถนนถลาง-ซอยรมณีย์ และ บริเวณเทศบาลและแหลมพรหมเทพ ตำบลราไวย์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว

บริษัท ยังได้เข้าไปดำเนินการ “ขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์” ซึ่งต้นปีหน้า ประเทศไทยเตรียมจัดงานอินโนเวชั่น บริษัทจึงได้เข้าไปออกแบบขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์สมาร์ทเซ็นเตอร์ โดยนำเรื่องสมาร์ทเอนเอนร์ยี่โซลูชันเข้าไปใช้ในอาคาร

อีกทั้ง ที่ระยอง ก็มองหาโอกาสที่จะเข้าไปดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรม หรือ โรงงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเรื่องของสมาร์ทสมาร์ทเอนเอนร์ยี่โซลูชันด้วย