บีทีเอส – แรบบิท เพิ่มช่องทางชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสผ่าน WeChat Pay

ผู้ชมทั้งหมด 387 

บีทีเอส – แรบบิท เพิ่มช่องทางชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสผ่าน WeChat Pay ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวจีนกว่า 8.5 ล้านคนที่จะเดินทางเข้าไทยปี 67

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ณ รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในงาน “รถไฟฟ้าบีทีเอส – แรบบิท เปิดบริการรับชำระเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสผ่านแอปพลิเคชัน WeChat Pay” ให้กับนักท่องเที่ยวจีน โดยผ่านระบบการชำระเงิน Rabbit Gateway ซึ่งเป็นระบบรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E – Payment) เพื่อรองรับการชำระเงินของลูกค้า WeChat Pay โดยมีนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนางสาวนริศรา ศรีสันต์ ที่ปรึกษากลยุทธ์สื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายเคลวิน เหลียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) และนายเบ็น หยาง กรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ WeChat Pay เข้าร่วม

โดยนักท่องเที่ยวจีน สามารถใช้แอปพลิเคชัน WeChat Pay ชำระค่าตั๋วโดยสารได้ที่เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ ประเภทเดินทางเที่ยวเดียว บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว และสายสีทองทุกสถานี ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายในด้านการบริการ และยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไทย

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐบาล ในการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ตามเป้าหมายที่รัฐบาล ได้ตั้งไว้ว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านคน จากในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 3.4-3.5 ล้านคน และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า การที่บีทีเอส, แรบบิท และWeChat Pay ร่วมกันพัฒนาระบบนี้ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสให้กับนักท่องเที่ยวจีน เชื่อว่าระบบนี้จะเพิ่มความสะดวกสบาย และสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวจีนได้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงฯ ที่ไม่ได้เน้นแค่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวผ่านนโยบายฟรีวีซ่า กับนักท่องเที่ยวจีนเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ที่นักท่องเที่ยวต้องได้รับในการเดินทางมายังประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนหาพันธมิตรอย่างต่อเนื่องของ WeChat Pay ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการสัญชาติจีน ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย และหากผู้ประกอบการรายใดสนใจระบบการชำระเงินระหว่างประเทศเหล่านี้ ทางกระทรวงฯ ก็พร้อมสนับสนุน 

สำหรับแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้นักท่องเที่ยวจีนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงนั้น ในช่วงก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับ 5 แพลตฟอร์มดังของจีน ได้แก่ BytePlus, Tencent, XiaoHongShu, MaFengWo และ Juwai IQI ซึ่งทุกแพลตฟอร์มก็พร้อมที่จะนำเสนอมุมมองที่สร้างสรรค์ของไทยให้นักท่องเที่ยวจีนได้รับรู้ และรับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงได้หารือกับทูตจีนประจำประเทศไทยแล้ว และท่านก็พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ส่วนมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกประเทศต่อจากนี้ ได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด พร้อมได้ประสานงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจท่องเที่ยว เพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกัน หากนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว  Call Center 1155 หรือ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 02-134-4077 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ ที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ได้แก่ ไทย, อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เกาหลี และรัสเซีย ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างบีทีเอส, แรบบิท และWeChat Pay ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการเดินทางของไทยต่อนักท่องเที่ยวจีน ทั้งเรื่องความทันสมัย และความสะดวกในการใช้งาน เพราะรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นระบบขนส่งทางรางที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ย่านสำคัญของกรุงเทพมหานคร และมีความปลอดภัย และเชื่อว่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนได้เป็นอย่างดี

สำหรับเป้าหมายในปี 2567 ได้ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามายังประเทศไทย 8.5 ล้านคน และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 4 แสนล้านบาท จากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยอดจองเที่ยวบินช่วงไฮซีซันของนักท่องเที่ยวจีน ช่วงปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนมากขึ้น และเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับประเทศไทย

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมจากภาคการท่องเที่ยวปี 2567 รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท และในประเทศ 1 ล้านล้านบาท โดยจะใช้แผนกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 5 ทิศทางหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1.เสริมภาพลักษณ์ 2.รุกเปิดตลาดคุณภาพใหม่ 3.แสวงหาคู่ค้ารายใหม่และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก 4.ขยายการเดินทางเชื่อมโยงทางบกเข้าถึงไทย และ 5.ใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เสริมพลังทางการตลาด เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวใหม่