ผู้ชมทั้งหมด 654
“บินไทย” มั่นใจรายได้ปี 66 โต 40% ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูก่อนสิ้นปี 67 กลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โดยเร็ว โชว์กเงินสดในมือแข็งแกร่งกว่า 3 หมื่นล้าน ลุ้นผลประกอบการกลางปีนี้อาจไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถ.วิภาวดีรังสิต นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน “CEO Premiere for Press” ผ่านมาบริษัทฯได้ปรับเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน เจรจาเพิ่มฝูงบิน และเจรจาเจ้าหนี้ จนขณะนี้อยู่ในภาวะที่อยู่รอดได้แล้ว โดยเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้นคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะยาว คือ การนำการบินไทยกลับไปเป็นสายการบินแห่งชาติในระดับต้น ๆ ของโลกให้ได้
ทั้งนี้ในปัจจุบันการบินไทยมีเงินสดในมือราว 30,000 ล้านบาททำให้มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นและเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีอยู่เพียง 6,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องขายทรัพย์สินอีก สำหรับแผนการเพิ่มทุนวงเงิน 25,000 ล้านบาท นั้นได้ วางแผนที่จะเงินกู้ระยาว 12,500 ล้านบาท และเงินหมุนเวียนในกิจการ 12,500 ล้านบาท ซึ่งจะมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินหรือไม่นั้นต้องรอพิจารณาผลประกอบการในช่วงกลางปี 2566 ก่อน หากผลประกอบการออกมาดีก็อาจจะไม่มีความจำเป็นกู้เงิน หรืออาจจะกู้ไม่เต็มวงเงิน
นายชาย กล่าวอีกว่า การบินไทยวางเป้าหมายว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่าปลายปี 2567 ตามที่เคยกำหนดไว้ และจะส่งผลให้การบินไทยกลับเข้าไปสู่การซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เร็วเช่นกัน เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ บริษัทฯจะมีรายได้เติบโตราว 40% เทียบกับปี 2565 ที่คาดวาจะมีรายได้ 90,000 ล้านบาท และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80% ซึ่งจะส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 20,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาปกติ การท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนเพิ่มฝูงบินเพิ่มรองรับการกลับมาบินตามปกติในเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป กลุ่มประเทศเอเชียเหนือ อย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ในปัจจุบันการบินไทยมีสัดส่วนรายได้การบินจากตลาดยุโรป 40% เอเซียเหนือ 30-35% เอเซียใต้ 10% ส่วนแผนกลับไปทำการบินในเส้นทางที่เคยบินตามปกตินั้น ได้แก่ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงจีนที่จะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินจากสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบินเป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2566 ซึ่งเมื่อดำเนินการกลับมาบินในจีน และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในจีน และเพิ่มเส้นทางบินในญี่ปุ่นก็คาดว่าจะส่งให้สัดส่วนรายได้ตลาดเอเชียเหนือจะใกล้เคียงกับตลาดยุโรป
อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับการกลับมาบินตามปกติ และเพิ่มเส้นทางบินนั้น การบินไทยมีแผนจัดหาเครื่องบินเพิ่ม โดยในระยะสั้นจะเป็นการเช่าดำเนินการ โดยในปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินโดยสารประจำการ 49 ลำ ยังไม่เพียงต่อจำนวนเที่ยวบิน จึงได้จัดหาเครื่องบินระยะสั้น ล่าสุดได้เซ็นสัญญาเช่าเครื่องบินโดยสารรุ่น แอร์บัส A350 มาเพิ่มอีก 6 ลำ คาดจะทยอยเข้าประจำการฝูงบินตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีนี้ รวมถึงกำลังจะเจรจาเช่าเครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างอีก 3 ลำ คาดรู้ผลสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งให้สิ้นปีนี้จะมีฝูงบินรวม 58 ลำ
ขณะที่เครื่องบิน แอร์บัส เอ380 จำนวน 6 ลำ ที่ไม่นำกลับมาใช้งาน เนื่องจากจอดมานานถึง 2 ปี ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูงหลายร้อยล้านบาท จุดคุ้มทุนมีความเสี่ยสูง รวมถึงต้นทุนน้ำมันจึงมีอัตราสิ้นเปลืองกว่าเครื่องบินรุ่นใหม่จึงต้องรอขาย หรือแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องบินใหม่กับทางผู้ผลิต ส่วนเครื่องบินที่รอขายมีจำนวน 22 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ แอร์บัส A340 จำนวน 4 ลำ และ แอร์บัส A380 จำนวน 6ลำ