ผู้ชมทั้งหมด 747
บางจากฯ ร่วมแสดงทรรศนะในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน UN Global Compact Leaders Summit 2022 ชูโครงการ “Bangchak 100x Climate Action: ทุกคนช่วยได้” ร่วมลดปัญหาโลกร้อน สู่เป้าหมาย carbon neutrality ในปี 2573 และ net zero ในปี 2593
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงทรรศนะในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน UN Global Compact Leaders Summit 2022 ภายใต้แนวคิด “The World We Want” จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) เพื่อรวมพลังผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลกกว่า 10,000 คนร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่เป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) มุ่งแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ในระดับอาเซียน ก่อนขยายผลไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ครอบคลุม 3 วาระสำคัญของโลก คือ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาทางสังคม
นางกลอยตา กล่าวเสวนาในหัวข้อ “SDG Ambition: Mobilizing Ambitious Corporate Actions Towards the Global Goals” ร่วมกับผู้นำทางธุรกิจด้านความยั่งยืนจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยมี ผู้บริหารจาก UN Global Compact สำนักงานนิวยอร์คเป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดย บางจากฯ ยึดหลักการ “พัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม” และมุ่งมั่นตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยได้คัดเลือก 9 เป้าหมาย(SDGs) ที่มีความสำคัญกับธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2564 ได้มีการทบทวนความสำคัญแบ่ง 9 เป้าหมายเป็น 2 ระดับ คือ in process หรือเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำธุรกิจ และ after process คือเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจการต่าง ๆ เพื่อสังคม โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับเป้าหมาย SDG 13 Climate Action โดยในปีนี้มีการรณรงค์ผ่านโครงการ “Bangchak 100x Climate Action: ทุกคนช่วยได้” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน และผู้บริหารกลุ่มบางจากฯ ยังได้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตนเองในปีนี้ เป็น “คณะผู้บริหารไร้คาร์บอน (Carbon Free Management Team)” องค์กรแรกในไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรรวม 11 องค์กรก่อตั้ง Carbon Markets Club ครั้งแรกในประเทศไทย ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี บางจากฯ ก็ไม่ได้ละทิ้งเป้าหมายอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจาก SDG 13 และอีก8 เป้าหมายหลัก ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของทั้ง 17 เป้าหมายที่มีต่อการสร้างความยั่งยืนของโลก
สำหรับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมาย SDGs ของบริษัทฯ นั้น นางกลอยตากล่าวว่า โควิด-19 แม้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อผลประกอบการทางธุรกิจในปี 2563 แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนที่สอนให้รู้จักปรับตัว โดยบางจากฯ ใช้หลัก “AGILITY” คือ การพร้อมรับทุกสถานการณ์อย่างคล่องตัวและปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด ซึ่งผลจากความมุ่งมั่นในการปรับตัวและปรับแผนการบริหารจัดการทางธุรกิจ ประกอบกับมีการจัดการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงด้วยการปรับธุรกิจให้มีความหลากหลายที่ได้ทำมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว ทำให้ธุรกิจของกลุ่มบางจากฯ สามารถพลิกกลับมามีผลประกอบการที่ดีที่สุดในปี 2564
นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจโดยยึดหลัก SDGs ยังช่วยให้เกิดผลดีที่ตามมาในแง่มุมต่าง ๆ เช่นการได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ผ่านการรับรองและรางวัล S&P Global Sustainability Award 2022 ระดับ Silver Class จากการประกาศผลคะแนนการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการและเศรษฐกิจ หรือ ESG (Environmental, Social, Governance & Economic) โดย S&P Global องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI หรือการสร้างสถานที่ทำงานที่ทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจและมีความสุข การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง UN Women 2021 Thailand WEPs Awards สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ หรือการติดอันดับ 20 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุดในปี 2565 จากผลสำรวจของเว็บไซต์ค้นหางาน WorkVenture
นางกลอยตา กล่าวอีกว่า เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้นำธุรกิจจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกัน คือ ต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทำได้จริงให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร จนถึงพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจซึ่ง UNGC มี SDG Ambition Guide และ SDG Tools เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายได้ชัดเจน ติดตามผลได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ก็เป็นสิ่งสำคัญ
กลุ่มบางจากฯได้ตั้งเป้า carbon neutrality ในปี 2573 และ net zero ในปี 2593 ซึ่งเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ด้วยตนเองในฐานะผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและผู้นำทางธุรกิจที่ได้รับการยอมรับด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราใช้หลักการ“Leading Inclusively” ในการที่จะนำพาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายนี้ด้วยกัน เพื่อความยั่งยืนของโลก ส่งต่อโลกที่สวยงามให้ลูกหลานของเราในอนาคต