ผู้ชมทั้งหมด 267
นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายอานนท์ บูรณะภักดี นายอำเภอพระประแดง นายสำเนาว์ รัศมิทัต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง นายมนัส รัศมิทัต ประธานอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้า นายสมชาย ดิษฐศร ที่ปรึกษาดำเนินการจัดการพื้นที่สีเขียว รศ.ดร.อัญชนา ท่านเจริญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ปาริฉัตร ลักษณวิมล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ศิลปินรับเชิญ นายศุ บุญเลี้ยง นักคิด นักแต่งเพลง และอาจารย์ในดวงตา ปทุมสูติ ร่วมเปิดงานวันหิ่งห้อยโลกประจำปี 2567 ณ ลานดนตรีในสวน ตลาดบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
วันหิ่งห้อยโลก กำหนดขึ้นในวันเสาร์แรกของเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหิ่งห้อยซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เป็นตัวชี้วัดระดับมลพิษในดินน้ำและอากาศ ต้องมีดินที่ปราศจากสารเคมี น้ำสะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์หิ่งห้อยจึงมีชีวิตอยู่ได้ บางจากฯ ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ : เส้นทางหิ่งห้อย วิถีแห่งการอนุรักษ์ เพื่อสานต่อแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เสริมสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานโครงการหิ่งห้อยคุ้งบางกะเจ้า และพัฒนาพื้นที่บางกะเจ้าให้เป็นเกาะหิ่งห้อยตามแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่บูรณาการร่วมกับพื้นที่ 6 ตำบลในคุ้งบางกะเจ้าตั้งแต่ปี 2557 โดยมีการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สร้างระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของหิ่งห้อย ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จัดอบรมให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องหิ่งห้อยผ่านช่องทางต่าง ๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดตั้งกลุ่มนักสำรวจประจำท้องถิ่นทั้ง 6 ตำบล ร่วมเป็นนักสำรวจนักวิจัยท้องถิ่น ในการร่วมอนุรักษ์หิ่งห้อย โดยได้รับความร่วมมือเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการในการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม
สำหรับในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 4 ของการสนับสนุนการจัดงานวันหิ่งห้อยโลกโดยบางจากฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 28 กรกฎาคม 2567 และบางจากฯ ครบรอบการดำเนินงาน 40 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ในปี 2567 ได้จัดกิจกรรมพิเศษหลากหลายด้านด้วยการปรับปรุงนิทรรศการหิ่งห้อย ห้องมืดหิ่งห้อย จัดการชมหิ่งห้อยทั้งทางน้ำ (เรือ) และทางบก เชิญชวนนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมสร้างความตระหนักในการเห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งการประกวดกลอนสด การแสดงจากศิลปินรับเชิญและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ การปลูกต้นจาก 720 ต้น และปล่อยหอย อาหารของหิ่งห้อย 720 ตัว โดยพนักงานจิตอาสาของบางจากฯ ร่วมกับผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม และมีการยกระดับเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมผ่านอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นและเรื่องราวเกี่ยวกับหิ่งห้อย เปิดตัว Bangchak Biodiversity & Sustainable Tourism ด้วยโครงการนำร่องรับประทานอาหารแบบไฟน์ ไดนิ่ง พร้อมชมหิ่งห้อย ทั้งทางบกที่ลำพูบางกระสอบ และทางน้ำที่ตำบลบางกะเจ้า