ผู้ชมทั้งหมด 160
ย้อนไปช่วงต้นปี 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศดีลใหญ่ เข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“เอสโซ่”) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (“ExxonMobil”) โดยมีมูลค่ากิจการราว 55,500 ล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจของกลุ่ม บางจากฯ ในปัจจุบันเติบโตแบบก้าวกระโดด กลายเป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 28.8% ครองอันดับ 2 ของประเทศไทย มีกำลังการกลั่นน้ำมัน จาก 2 โรงกลั่น (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) รวมระดับ 294,000 บาร์เรลต่อวัน มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ และผลจากการ Synergy ร่วมกันกับ เอสโซ่ ช่วยสร้าง EBITDA ให้กับกลุ่มบางจากฯ ราวปีละ 5,500 ล้านบาท
ปี2567 เป็นปีที่ กลุ่มบางจากฯ ครบรอบการดำเนินงาน 40 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 และเป็นปีแห่งการสร้าง Synergy ปรับตัวและเติบโต เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทในปี 2573 รักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ขณะที่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น
โดยครึ่งแรกของปี 2567 ผลการดำเนินงานของ กลุ่มบางจากฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2567 ตัวแปรที่สำคัญยังคงเป็นค่าการกลั่น (GRM) ซึ่งหากพิจารณาจากค่าการกลั่นสิงคโปร์ GRM พบว่า ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ราว 20% หรืออยู่ที่ระดับ 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่โรงกลั่นฯพระโขนง ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุง ทำให้กลั่นน้ำมันได้เต็มกำลัง จึงเป็นปัจจัยหนุนปริมาณการผลิตในไตรมาสนี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 อ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดทุนจาการสต๊อกน้ำมัน (Stock Loss) ได้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2568 บางจากฯ ตั้งเป้าหมายยอดขายและEBITDA เติบโตเฉลี่ย 15-20% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะทำยอดขายได้ระดับ 6 แสนล้านบาท โดยในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น ปีหน้าจะ เดินเครื่องการผลิตได้เต็มกำลังที่ระดับ 280,000 บาร์เรลต่อวัน และยังมีในส่วนของการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่จะเปิดเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วยไตรมาส 2 ปี2567 ด้วยกำลังการผลิต เฟสแรก 7,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการกลั่นรวม จะอยู่ที่ระดับ 287,000- 290,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในส่วนของ SAF หากคำนวณจากราคาขายที่ 65-70 บาทต่อลิตร จะทำให้บางจากฯ มีรายได้เข้ามา 15,000 ล้านบาทในปีหน้า และช่วงที่มีมาตรการบังคับใช้ให้ผสมในสัดส่วน 1% นั้น คาดว่าราคา SAF จะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้รายได้ของบางจากฯ เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 -30,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ธุรกิจตลาด ในปีหน้า คาดว่าจะเติบโตขึ้น 20% และธุรกิจต้นน้ำ(E&P) จะเติบโต ราว 40-50%
“SAF ที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการใช้ 5% ของดีมานด์น้ำมันเครื่องบิน(Jet) ในไทย ที่มีอยู่วันละประมาณ 20 ล้านลิตร ซึ่งไทย กำลังใช้ 5%ในปี 2573 ก็เท่ากับจำนวนที่กำหนดไว้ แต่หากดีมานด์Jet เพิ่มขึ้น มีผู้คนเดินทางมากขึ้น หรือมีดีมานด์จากต่างประเทศเพิ่ม บางจากฯ ก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก 5 แสนลิตร จาก 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 1.5 ล้านลิตรต่อวัน แต่หากดีมานด์Jet มากขึ้นก็กว่านี้ ก็คงต้องดูเรื่องของเทคโนโลยี เพราะการ ผลิตJet จากเอทานอล ด้วยเทคโนโลยี Ethanol-to-jet (ETJ) จะมีต้นทุนแพงกว่าการ ผลิตJet จากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว UCO (Used Cooking Oil) ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น และราคาน้ำมันเป็นต้นทุน 60% ของสายการบิน ซึ่ง SAF ก็มีราคาแพง 2 เท่าของแก๊สโซลีนแล้ว ถ้าเป็น ETJ จะแพงกว่า 4 เท่า ก็จะทำให้ต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น”
ขณะที่ในปี 2568 ตั้งเป้าจะใช้งบลงทุนราว 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 4,500 ล้านบาท, ธุรกิจการตลาด 2,900 ล้านบาท, ธุรกิจพลังงานสีเขียว 20,000 ล้านบาท, ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 1,000 ล้านบาท, และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ 20,000 ล้านบาท, ธุรกิจใหม่อีก 1,600 ล้านบาท
สำหรับแผนเข้าซื้อกิจการ(M&A)นั้น ยังอยู่ในเป้าหมายของบริษัท แม้ว่าในแต่ละปีบางจากฯจะเติบโตจากการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจที่มีอยู่ในได้มาตรฐานในระดับโลกซึ่งจะช่วยเพิ่ม EBITDA ให้กับบริษัทได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีจะส่วนที่ช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตด้วยการทำM&A ซึ่งในแต่ละปี บริษัทจะมีการทำดีลM&Aอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก โดยในอดีตM&A จะเป็นลักษณะที่เพิ่มการเติบโตให้กับบริษัท แต่ในปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว ฉะนั้น M&Aที่จะเข้ามาในอนาคตจะเป็นลักษณะของการช่วยให้ธุรกิจแข็งแรงมากขึ้นและสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต
กลุ่มบางจาก ได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตในช่วง 6 ปีข้างหน้า (2568-2573) โดยจัดสรรเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สัดส่วน 35% ธุรกิจดั้งเดิม เช่น โรงกลั่น สัดส่วน 30% ธุรกิจ Green Power สัดส่วน 25% และธุรกิจไบโอเบส สัดส่วน 10% อีกทั้ง ยังจัดเตรียมงบสำหรับการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ราว 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สัดส่วน 60% และธุรกิจ Green Power สัดส่วน 40% เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทในปี 2573 รักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ขณะที่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น สร้างรากฐานอันมั่นคง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 รายได้จากการขายและการให้บริการจะเติบโตแตะ 1 ล้านล้านบาท
ด้านธุรกิจการตลาด บริษัทมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันบางจากเพิ่มเป็น 2,400 แห่ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 33% จากครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 28.8% โดยจะมุ่งเน้นที่ตลาดที่มีความต้องการสูง ด้านตลาดพาณิชยกรรม จะมุ่งขยายตลาดในภูมิภาค (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมา และเวียดนาม) นอกจากนี้ยังมีแผนขยายร้าน Inthanin Coffee เพิ่มเป็น 2,400 แห่ง
ส่วนธุรกิจพลังงานสีเขียว โดย BCPG ตั้งเป้าได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 และเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืนที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ด้วยกลยุทธ์เน้นการขยายการลงทุนในพลังงานสีเขียวในประเทศที่มีธุรกิจอยู่แล้วและการทำ capital recycling เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินและผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ BBGI ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบครบวงจร กำลังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์และขยายธุรกิจหลักไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูง BBGI ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิต CDMO (Contract Development and Manufacturing Organization) รายแรกในอาเซียนในปี 68 โดยมีแผนที่จะผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีภายในปี 71
ขณะที่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) กลุ่ม BCP สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจ ด้วยการลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2573 ตลอดจนมีแผนขยายธุรกิจ E&P ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิก เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ E&P ของกลุ่มบริษัทบางจากอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายรวมที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573
ทั้งนี้ ในอนาคต บางจากฯ จะมีแผนนำหุ้น BSRC ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือไม่นั้น ขณะนี้ หุ้น BSRC ยังคงเทรนดอยู่ในตลาดฯ ซึ่งบางจากฯ ได้เข้าซื้อหุ้นมายังไม่ครบ 1 ปี และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทำ Tender offer ควบคู่กับการศึกษาหาทางเลือกที่เหมาะสม โดยหากผลการศึกษาเสร็จคงต้องมาพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร