ผู้ชมทั้งหมด 814
บางจากฯ ลงนามความร่วมมือ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนุนลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการศึกษา Blue Carbon ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรก
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยมี Blue Carbon เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก” โดยมีนางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ลงนาม
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยเป้าหมายการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 บางจากฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านนี้เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ บางจากฯ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการสนับสนุนแนวทางการดูดซับคาร์บอนผ่านระบบนิเวศทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ เช่น การปลูกป่าไม้บนบก ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น
บริษัทฯ มีความยินดีที่ได้สนับสนุนโครงการศึกษาความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูงมาก โดยตั้งเป้าการทำงานในบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด จัดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการศึกษาแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังของภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อ ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอนในทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ เกาะหมากยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักย- ภาพสูงในฐานะพื้นที่ต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนเข้มแข็งแห่งหมู่เกาะภาคตะวันออกของไทยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่ตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำได้อีกด้วย
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งนี้ยังจะมีส่วนช่วยสนับสนุนดูแลฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบางจากฯ ยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนการดูแลธรรมชาติทางทะเลที่ยังประโยชน์ต่อการดูดซับคาร์บอนได้อย่างทวีคูณหลายต่อหลายเท่า ส่งผลดีต่อภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่ดีต่อสิ่งแวดล้อมจากการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังดีต่อสังคมจากการศึกษาวิจัยอย่างครบวงจรที่ครอบคลุมการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าทะเล การลดก๊าซเรือนกระจก และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษา กล่าวว่า การสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงคณะผู้ศึกษาจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น เรามีแผนที่จะใช้การวิเคราะห์ผลด้าน Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังโดยประสานงานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและประชาชนในท้องถิ่น และใช้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลจากการดำเนินโครงการศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิตจากแหล่งหญ้าทะเลในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลตั้งต้นชิ้นสำคัญสำหรับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศด้วยการกักเก็บ Blue Carbon ในระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในอนาคต