ผู้ชมทั้งหมด 242
บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 68 เติบโตต่อเนื่อง วางเป้า Load Factor 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน ลุยรุกตลาด เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซาอุฯ ประเทศในแถบลาตินอเมริกา และตุรกี พร้อมโชว์ยอดจองล่วงหน้าเส้นทางสมุยโต 14%
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกว่ามีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอุปสงค์การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก และแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ
โดยในปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน และคาดว่ามีจำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน ขณะที่ราคาบัตรโดยสารคาดว่าจะเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง
สำหรับแนวโน้มการเดินทางในปีนี้ เส้นทางสมุยยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14% โดยบริษัทฯ วางแผนกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4/2568 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์

ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยภายในประเทศ 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และจุดหมายปลายทางต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง
บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก ด้านบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุดปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำ และมีแผนจะปรับฝูงบิน (Re-fleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบระหว่างปี 2569 ถึงปี 2571
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 4/2568 ส่วนสนามบินตราดมีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแบบไอพ่นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ
สำหรับแผนการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น ล่าสุดบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด BA เปิดเผยว่า ด้านแผนการขายในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและรายได้ คาดการณ์ส่วนแบ่งช่องทางการขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เป็นสัดส่วน 28% และช่องทางอื่น 72% (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) โดยเป็นการขายผ่านช่องทางเชื่อมต่อตรงผ่านระบบ 32% ตลาดภายในประเทศ 18% และตลาดต่างประเทศ 50% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังมีความต้องการสูงและยังคงแข็งแกร่ง โดยวางแผนการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศในแถบละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสำนักงาน GSA รวมทั้งสิ้น 26 แห่งทั่วโลก
สำหรับกลยุทธ์การขายมี 4 แนวทาง ได้แก่ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ การต่อยอดการขาย จากกระแสซีรีส์ “White Lotus Season 3” โดยจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ เน้นกลุ่มประเทศ อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน
ขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้นเพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากแนวโน้มปัจจุบันลูกค้านิยมซื้อตั๋วผ่านเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา (Metasearch) และตัวแทนจำหน่ายตั๋วออนไลน์ (OTA) ช่วยให้สายการบินกระจายการขายตั๋วไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขายผ่านแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร ซึ่งเป็นการขายร่วม (Codeshare) บนบัตรโดยสารของสายการบินพันธมิตรผ่านช่องทางบนระบบแบบเชื่อมต่อตรง ช่วยขยายช่องทางการขาย และเพิ่มฐานลูกค้าแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมปรับโฉมระบบสำรองที่นั่งออนไลน์ใหม่ เป็น RefX (Reference Experience) หรือ Digital Commerce พัฒนาโดยบริษัทอะมาดิอุส เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลเที่ยวบิน ราคาและบริการเสริมได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น