ผู้ชมทั้งหมด 1,433
บอร์ดEV เตรียมออกมาตรการดันเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า30% ในปี 73 แบ่งการส่งเสริมออกเป็น 3 ระยะ รวมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภท รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน พร้อมกำหนดเป้าติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 12,000 หัวจ่าย สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,450 แห่ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยภายหลังการประชุม บอร์ด EV ครั้งที่ 2/2564 ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศตามนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
โดยกำหนดให้ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน หรือให้มีกำลังการผลิตรถ ZEV อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีการกำหนดเป้าหมายการใช้ในประเทศ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงพิจารณาแนวทางส่งเสริม EV ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2573 ซึ่งการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้นในที่ประชุมได้ร่วมกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 โดยแบ่งเป็นรูปแบบ Fast Change จำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่ายสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง
พร้อมกำหนดมาตรการส่งเสริมทางการเงินและภาษี การกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งบูรณาการให้เข้ากับระบบสมาร์ทกริด ด้านการผลิตแบตเตอรี่ได้พิจารณาจากแผนการผลิตของภาคเอกชนแล้วที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับการผลิตรถ ZEV ในประเทศ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนโดยมุ่งเน้นให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนผ่านมาตรการด้านภาษี การกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีกรอบแนวทางมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
ส่วนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้านั้นมีแนวทางการสนับสนุนการลงทุน พร้อมทั้งหาแนวทางการลดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการขออนุญาตติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ด้านมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการสนับสนุนด้านการเงินให้กับผู้ผลิต การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบ พร้อมทั้งสนับสนุนการทดสอบมาตรฐานกับหน่วยตรวจหรือศูนย์ทดสอบภายในประเทศ และจะมีการออกกฎระเบียบแนวทางนโยบายมาตรการด้านแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วอีกด้วย
การประชุมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกำหนดกรอบแนวทาง เตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนำแนวทางต่างๆ ไปศึกษาถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ของมาตรการส่งเสริมต่างๆ เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 – 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ ระยะที่ 2 : ปี 2566 – 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale
ระยะที่ 3 : ปี 2569 – 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย