บอร์ดรฟท. ไฟเขียวผลประมูลจ้างติดตั้งระบบติดตามรถไฟ 948.5 ล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 406 

บอร์ดรฟท. อนุมัติผลประมูลจ้างติดตั้งระบบติดตามขบวนรถไฟ หลังกิจการร่วมค้าเอเอ เสนอราคาต่ำสุด 948.5 ล้านบาท คาดลงนามสัญญา เม.ย. 65 พร้อมเร่งดำเนินการติดตั้งระบบ หวังช่วยหนุนรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 176 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย ว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า (Train Tracking and Freight Management System) ราคากลาง 949.9 ล้านบาท สำหรับผู้ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ คือ กิจการร่วมค้าเอเอ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ  AIT บริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด บริษัท อาร์มเทค เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม จำกัด เสนอราคาต่ำที่สุด 948.5 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.9 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามบอร์ดขอให้ รฟท.ไปเจรจาต่อรองขอลดราคากับผู้ชนะอีกครั้ง เพื่อนำผลสรุปเสนอให้ บอร์ด รฟท. รับทราบอีกครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม 2565 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้าเอเอ ได้เดือนเมษายน 2565 และเริ่มงานติดตั้งระบบในเดือนพฤษภาคม 2565 ระยะเวลาดำเนินการติดตั้ง 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 2566

สำหรับโครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้านั้นทางผู้รับเหมาจะดำเนินการติดตั้งระบบ GPS และRFID บนขบวนรถโดยสาร 200 ขบวนและขบวนตู้สินค้า100 ตู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า รวมทั้งระบบการวางแผนพนักงานประจำขบวนรถ ระบบจัดขบวนรถ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับระบบขนส่ง

ระบบ GPS และRFID จะทำให้ ติดตามตำแหน่งหัวรถจักร ขบวนโดยสารและแคร่สินค้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง แก้ปัญหาความล่าช้า และยังอำนวยความสะดกให้ประชาชนสามารถเช็คเวลาเข้า ออกสถานีของขบวนรถได้ โดยรฟท.จะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมารองรับการใช้งานต่อไป

นอกจากนี้แล้วระบบดังกล่าวจะลดมูลค่าความเสียหายจากความล่าช้าของเที่ยววิ่งรถโดยสารได้ ปีละ 311 ล้านบาท ลดมูลค่าความเสียหายเที่ยววิ่งสินค้าปีละ 97 ล้านบาท เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริการ คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% หรือราว ปีละ 1.75 ล้านคน จากยอดคนโดยสารเฉลี่ยต่อปี 35.1 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 176 ล้านบาท จากรายได้ปกติปีละ 3,529 ล้านบาท ส่วนปริมาณขนส่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% จากปัจจุบันที่ขนส่งอยู่ที่ปีละ 11 ล้านตัน ส่งผลให้รายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นปีละ 44 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 10 ล้านบาท