บอร์ดรฟท. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 เชื่อมต่อลาวปี 74

ผู้ชมทั้งหมด 380 

บอร์ดรฟท. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 มูลค่ากว่า 3.41 แสนล้านบาท พร้อมส่งเรื่องให้คมนาคมทันทีก่อนส่งต่อครม.พิจารณา หวังสร้างเสร็จปี 73 เปิดให้บริการปี 74 แยกประมูลศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา ดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน เชื่อม-ลาว- จีน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะ (เฟสที่ 2) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการ 341,351.42 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธา 235,129.40 ล้านบาท,ค่าลงทุนระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  80,165.61 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยทรัพย์สิน 10,310.10 ล้านบาท,ค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน บริหารโครงการและวิศวกร อิสระ10,060.10 ล้านบาท และงานก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท

ทั้งนี้หลังจากที่บอร์ดรฟท.อนุมัติในขั้นตอนต่อไป รฟท. จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าหากครม. เห็นชอบจะก็จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ทันที โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2573 เปิดให้บริการได้ในปี 2574

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า สถานะของโครงการนั้นปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ก็เตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาต่อไป

นายนิรุฒ กล่าวว่า โครงการรถไฟไฮสปีดเฟส 2 แบ่งเป็น 14 สัญญา ประกอบด้วย งานก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟไฮสปีด 11 สัญญา, ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา 1 สัญญา และงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล 1 สัญญา

โดยการก่อสร้างจะไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงแบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ 202.48 กม. และทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย รวมถึงมีย่านกองเก็บตู้สินค้า และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย และจะมี 2 ศูนย์ซ่อมบำรุง ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย

นายนิรุฒ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา) นั้นที่ประชุมบอร์ด รฟท.ได้เห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ วงเงิน 5,686 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 2,325 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 2,108 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง ,ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 508 ล้านบาท ค่าลงทุนเครื่องมือ/อุปกรณ์และรถจักรศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา 639 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการควบคุมงานและรับรองระบบ 104 ล้านบาท

โดยส่วนนี้รฟท. ได้แยกสัญญางานก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา ออกจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 เพื่อเปิดประมูลในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ((PPP Net Cost)  เนื่องจากผลการศึกษาเห็นว่าเป็นโครงการสำคัญที่เชื่อมโยงกับโครงการรถไฟทางคู่และศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าของกรมขนส่งทางบก (ขบ.) จึงจำเป็นต้องแยกสัญญาออกมาเพื่อประโยชน์สูงสุด โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี และรฟท.จะได้รับค่าสัมปทานตลอดอายุโครงการฯ 4,457 ล้านบาท จากนี้ รฟท.ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาจะมีปริมาณตู้สินค้าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5.56 ล้านตัน หรือ 317,439 ทีอียูในช่วงปีที่ 1 และจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปีที่ 20 เป็น 11.05 ล้านตัน หรือประมาณ 631,237 ทีอียู ในปี 90โดยจะช่วยผลักดันการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว- จีน ซึ่งจะสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน