ผู้ชมทั้งหมด 5,552
บอร์ดรฟท. ตีกลับผลศึกษาโรงซ่อมบำรุงรถไฟแห่งใหม่แทนมักกะสัน ติงผลศึกษายังไม่รอบด้าน ชี้ต้องทำให้ครบทุกมิติก่อนนำเสนอบอร์ดใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาการคัดเลือกพื้นที่โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ ตามที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กิจการค้าร่วม KUSIP ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท โปรคอนเซ็ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียดโรงงานมักกะสันแห่งใหม่ นำเสนอ แต่ยังไม่ได้เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลยังไม่พร้อมทุกด้าน จึงขอให้ไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมทุกมิติ
นายนิรุฒ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบอร์ด รฟท.เห็นชอบในหลักการว่า ควรย้ายโรงซ่อมบำรุงออกจากพื้นที่มักกะสัน เพราะมีความคับแคบ แต่ควรพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้รฟท.เพราะเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง ส่วนโรงงานแห่งใหม่ควรตั้งอยู่ในระยะทางห่างจากเขตกรุงเทพฯไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ไร่ ดังนั้นบอร์ด รฟท.จึงต้องการข้อมูลเพิ่มให้เพียงพอ ทั้งในมิติการเปรียบเทียบเชิงพื้นที่แต่ละแห่ง เพราะเห็นว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ไม่ได้นำเสนอ มิติความคุ้มค่าในการลงทุน มิติด้านการขนส่ง มิติการอำนวยความสะดวกให้พนักงานที่ต้องย้ายไปทำงานในที่แห่งใหม่ และมิติความพึงพอใจของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟในต่างประเทศด้วย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาคัดเลือกพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 454 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา มูลค่าลงทุนประมาณ 8,234.22 ล้านบาท ซึ่งได้คะแนนเหมาะสมมากที่สุด และ2.พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 240 ไร่ ได้คะแนนความเหมาะสมลำดับที่ 2 ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน มีมูลค่าลงทุนประมาณ 8,129.72 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บอร์ดรฟท. เห็นว่านอกจาก 2 พื้นที่ดังกล่าวแล้ว รฟท.ยังมีพื้นที่อื่นที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และระยะทางไม่เกิน 200 กม.จาก กทม. เช่น พื้นที่สถานีช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ห่างจากกทม. ประมาณ 180 กม. และ พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ห่างจากกทม. ประมาณ 100 กม. ซึ่งควรนำข้อมูลมาพิจารณาเปรียบเทียบอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุดก่อนนำกลับมาเสนอบอร์ดรฟท.พิจารณาอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ค. 66 หากเห็นชอบแล้วจะดำเนินการจัดทำแผนการย้าย ระยะเวลา การออกแบบ และเสนอขอตั้งงบประมาณดำเนินการต่อไป