ผู้ชมทั้งหมด 735
บวท. เตรียมวางระบบ Backup จราจรทางอากาศสำรอง เดินหน้าสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศอู่ตะเภา พร้อมจับมือ ลาว – จีน สร้างเส้นทางบินใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัยทางการบิน
ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วิทยุการบินฯ เตรียมดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ ตั้งแต่ปี 2567 – 2572 ให้สอดรับกับภารกิจสำคัญในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้การวางระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่นั้นจะดำเนินการใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. การวางระบบบริหารจราจรทางอากาศสำรอง (Off-site Backup) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ ICAO และ กพท. ที่กำหนดให้หน่วยให้บริการจราจรทางอากาศของประเทศไทยต้องมีแผนรับภาวะฉุกเฉินด้านบริการจราจรทางอากาศ เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องด้วยความปลอดภัยและมี ประสิทธิภาพ แม้ในเวลาที่มีภัยคุกคาม ภาวะวิกฤติ โดยอยู่ระหว่างการสำรวจสถานที่ ศึกษาเทคนิค ประมาณการงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานออกแบบในปีงบประมาณ 2567 และกำหนดเปิดใช้งานได้ในปี 2572 คาดการณ์ว่าจะรองรับเที่ยวบินได้มากกว่า 1.5 ล้านเที่ยวบินต่อปี 2.การก่อสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศอู่ตะเภา วงเงินประมาณ 1.2 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571 รองรับผู้โดยสารในเบื้องต้นได้ 2 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2580
นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน และลาว เรื่องการสร้างเส้นทางบินใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านน่านฟ้าสาธารณรัฐประชาชนลาว เข้าน่านฟ้าไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวิทยุการบินฯ กับสำนักบริหารการจราจรทางอากาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ATMB CAAC และหน่วยงานผู้ให้บริการเดินอากาศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ LANS เป็นการขยายการรองรับปริมาณการบินบนน่านฟ้า ตามแผนที่จะนำเสนอที่ประชุมองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เนื่องจากแนวโน้มการบินในเส้นทางดังกล่าว มีการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมสามารถรองรับเที่ยวบินในเส้นทางนี้ 1.5 – 2 แสนเที่ยวบินต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 – 3 แสนเที่ยวบินต่อปี ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป