นายกฯ เยือนลาว เป็นประธานลงนามความร่วมมือขนส่งสินค้าทางราง

ผู้ชมทั้งหมด 228 

นายกฯ เยือนลาว เป็นประธานลงนามความร่วมมือขนส่งสินค้าทางรางอย่างไร้รอยต่อ เชื่อเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญช่วยขยายโครงข่ายคมนาคม คาดเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 26 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 30 ล้านบาทในปี 68

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประธานในพิธีลงนาม “บันทึกการดำเนินการด้านเทคนิคสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ” ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว สปป.ลาว กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบขนส่งร่วมกันระหว่างสองประเทศ  เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี เวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมี นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ นายดาวจินดา สีหาราด ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ร่วมลงนามฯ

นายวีริศ อัมระปาล เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ จึงมอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการผลักดันและพัฒนาการขนส่งทางราง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – ลาว – จีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางให้เกิดการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

รฟท. เเละรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ได้บังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2551 ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟและการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – สปป.ลาว อาทิ เส้นทางขนส่ง จุดเข้า – ออกประเทศ การจัดขบวนรถและตารางเดินรถ กฎข้อบังคับเเละเอกสารการขนส่งสินค้า กฎข้อบังคับการเดินรถ การให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การชำระบัญชี ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ไปยัง สปป.ลาว และจีน มีหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวมอลต์  ปุ๋ย อะไหล่รถยนต์ สินค้าอีคอมเมิร์ช สินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ เฉลี่ยวันละ 4 – 6 ขบวน ไป/กลับ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ทุเรียน) และสินค้าที่มาจากแหลมฉบัง ผ่านสถานีนาทาฝั่งประเทศไทย ไปยังสถานีขนถ่ายสินค้าท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อกระจายสินค้าไปยัง สปป. ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2566 มีรายได้จากการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – สปป.ลาว จำนวน 11,361,000 บาท และช่วงเดือนตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2667 มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวน 26,749,500 บาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2568 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท

“เชื่อมั่นว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยขยายโครงข่ายคมนาคมทางราง ยกระดับการขนส่งสินค้าทางรางทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนได้ตามนโยบายของรัฐบาล” นายวีริศ กล่าว