นายกฯ สั่งพัฒนาพื้นที่แนวรถไฟสายสีแดง-หวังดันสถานีกลางบางซื่อเป็นฮับอาเซียน

ผู้ชมทั้งหมด 927 

นายกฯ สั่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สองข้างทางรถไฟสายสีแดง ยกระดับสถานีกลางบางซื่อเป็นฮับอาเซียน ด้าน ร.ฟ.ท. เตรียมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟสายสีแดง ก.ค.64 แย้มค่าโดยสารแรกเข้า 15 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) วันนี้ (15 ธ.ค. 63) ว่า สถานีกลางบางซื่อถือเป็นโครงการสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถยกระดับการเดินทางและการขนส่ง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนและทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ขนส่งในภูมิภาคอาเซียน

ขณะเดียวกันนี้ตนยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวเส้นทางรถไฟสายสีแดง เนื่องจากพบว่าตลอดแนวเส้นทางนั้นยังมีพื้นที่ว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก ที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือก่อให้เกิดเป็นกิจกรรมใดก็ได้เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อด้วย เพื่อจะได้ช่วยขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงของรถไฟชานเมืองสายสีแดง  มี.ค. 64 ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือน ก.ค. 64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือน พ.ย. 64 ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกที่เปิดให้บริการจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 8.6 หมื่นคนต่อวัน โดยในต้นปี 65 มีแผนจะให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อด้วย ซึ่งจะเริ่มที่ 8 ขบวนก่อน

ส่วนอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะกำหนดตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่ามีราคาค่าแรกเข้ากำหนดอยู่ที่ 15 บาท และจะปรับเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ส่วนขบวนรถได้รับมอบมาครบในจำนวน 25 ขบวน ด้านพื้นที่เชิงพาณิชย์ร้านค้าที่จะเปิดให้บริการภายในสถานี ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการที่ยังมีรถไฟให้บริการเฉพาะรถไฟทางไกล และรถไฟสายสีแดง ร.ฟ.ท.จะจัดหาร้านค้าให้บริการอย่างเหมาะสม หลังจากนั้นจึงจะเปิดประมูลเพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ

ขณะเดียวกัน รูปแบบการเดินรถไฟสายสีแดง ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินเพิ่มพันธกิจให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ ร.ฟ.ฟ.ท. เข้ามาดำเนินการบริหารเดินรถไฟสายสีแดงชั่วคราว หลังจากนั้นจึงจะเปิดประมูลเพื่อจัดหาเอกชนร่วมทุนในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ขณะที่ส่วนต่อขยายรถไฟสานสีแดง ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการประมูล