ผู้ชมทั้งหมด 1,073
สถาบันวิศวกรรมพลังงาน ม.เกษตรศาสตร์ เตรียมเสนอ กกพ. สรุปผลการศึกษาโครงสร้างและการกำกับกิจการก๊าซฯเพื่อการแข่งขัน แนะปตท.ยืนสิทธิโดยสมัครใจนำเข้า LNG รายปี เปิดทาง Shipper รายใหม่ช่วงเริ่มต้นนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ พร้อมแยก Terminal มาบตาพุด เป็นโควตานำเข้าก๊าซฯเพื่อความมั่นคงให้ ปตท.บริหารจัดการ ขณะที่ Terminal หนองแฟบ เป็นโควตานำเข้าเพื่อการแข่งขัน
“ก๊าซธรรมชาติ” จัดเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศไทยที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนกว่า 60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และไทยไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ ทำให้ต้องมีการจัดซื้อก๊าซฯจากประเทศเพื่อบ้านเข้ามาเสริม รวมถึงมีการจัดหาก๊าซฯในรูปแบบของธรรมชาติเหลว(LNG)
การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซฯของไทย เป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2557 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศ “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม” (TPA Code) หมายถึง Third Party Access Code หรือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซ ธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สามที่จัดทำขึ้นภายใต้หลักเกณฑ์ที่ระบุใน TPA Regime เพื่อเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาทดสอบใช้ระบบท่อส่งก๊าซฯ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ
กระทั่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนโยบายเปิดเสรีการแข่งขันในกิจการก๊าซฯของประเทศ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้า LNG สัญญาระยะสั้นในรูปแบบตลาดจร(Spot) จำนวน 2 ลำ ในช่วงปี 2562 และปี2563 เพื่อมาทดสอบระบบ TPA Code
จากนั้น ในปี 2563 กกพ.ได้ออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติม (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำกับผู้รับใบอนุญาตศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (System Operator (SO) Regulatory Framework) หรือ TSO framework เพื่อให้ กกพ.สามารถกำกับดูแลกิจการก๊าซฯได้เป็นธรรมมากขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กำกับผ่านผู้ได้รับใบอนุญาต 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้ขนส่งก๊าซฯทางท่อผ่านระบบท่อก๊าซฯ 2.ผู้จัดหาและค่าส่งก๊าซฯ 3 ผู้ค้าปลีกก๊าซฯผ่านระบบจำหน่าย และ4.เก็บรักษาและแประสภาพก๊าซฯจากของเหลวเป็นก๊าซฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการก๊าซฯ เป็นไปตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ที่กำหนดแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 โครงการนำร่อง : การเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างกิจการและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันไปสู่โครงสร้างที่มีการแข่งขันนั้น
กกพ.จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา โครงการศึกษาโครงสร้างและการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อการแข่งขัน ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single Buyer เพื่อศึกษาวิเคราะห์ตามมติ กพช.ดังกล่าว
ปัจจุบัน สถาบันวิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการศึกษาโครงการฯคืบหน้าไปมากแล้ว จึงได้นำรายละเอียดในเบื้องต้นมาจัดงานสัมมนาฯ ขึ้นในวันที่ 8 ต.ค.นี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯกว่า 300 คน
โดยงานสัมมนาฯครั้งนี้ พบว่า มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ได้แก่ ข้อเสนอแนะการปรับปรุง TPA Regime หรือ ข้อบังคับว่าด้วยการจัดทำข้อกำหนด เกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime) ที่มีข้อกำหนดการจองใช้สิทธิความสามารถในการให้บริการของ LNG Terminal ในลักษณะของสัญญา Non-Firm Terminal Use Agreement (Non –Firm TUA) ตาม TPA Code จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการเสียสิทธิ (Use-It-Or-Lose-It หรือ UIOLI) ของ Shipper รายเดิมที่ไม่ได้ยืนยันการใช้สิทธิล่วงหน้าภายในกอรบระยะเวลา 45 วัน ก่อนกำหนด Delivery Window
นายพรชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการฯ ระบุว่า ที่ปรึกษาโครงการฯ เห็นว่า ระยะเวลาที่ประกาศกาเสียสิทธิล่วงหน้า 45 วันก่อน Delivery Window สามารถปรับจำนวนให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการส่งเสริมการแข่งขัน เช่น อาจกำหนดเป็น 60 วัน หรือ 75 วันไปก่อน ต่อไปอาจจะปรับลดจำนวนวันลงได้ตามความเชี่ยวชาญของการนำเข้า LNG และปริมาณการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องปรับปรุงข้อกำหนด TPA Code ของสถานีแอลเอ็นจี ในส่วนของกรอบระยะเวลาในการประกาศการเสียสิทธิล่วงหน้าให้มีจำนวนวันที่เหมาะสมและปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น
รวมถึง การกำหนดอัตรา Send Out Rate ของ PTTLNG ที่สูงเกินไป อาจทำให้ Shipper รายเล็ก เสียเปรียบรายใหญ่ ประเด็นนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ เสนอแนะให้ควรกำหนดแนวทางการกำกับอัตรา Send Out Rate ที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่าย ซึ่งควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.
นอกจากนี้ ในส่วนของการวางแผนจัดส่งประจำปี( Annual Delivery Plan หรือ ADP) ที่กำหนดให้จัดทำทุกปี เพื่อจัด slot ของเรือที่จะนำเข้า LNG ในแต่ละช่วงเวลาปีถัดไป โดยจะเริ่มต้นจัดทำแผนตั้งแต่ ส.ค. ถึงเสร็จสิ้น พ.ย. ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันของ Shipper ทุกรายที่มีสัญญาการใช้บริการแบบ Firm ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง Shipper ปตท.เท่านั้นที่ทำการวางแผน ADP ประกอบกับการนำเข้า LNG ของ Shipper ปตท. ที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าปริมาณความสามารถที่จองไว้เกือบ 50% ดังนั้น ในแต่ละปี Shipper ปตท. จึงมีจำนวน slot ที่เสียสิทธิตามเงื่อนไข UIOLI เป็นจำนวนมาก
ในขณะที่ Shipper รายใหม่ หากต้องการจะเข้าใช้บริการฯ จะต้องรอให้ Shipper ปตท. เสียสิทธิตามเงื่อนไขก่อน ก่อให้เกิดผลเสียจากประกาศของสถานีแอลเอ็นจี ล่วงหน้าเพียง 45 วันก่อนถึง Delivery Window ที่กำหนด ทำให้ Shipper รายใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการนำเข้า LNG ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน จึงเป็นอุปสรรขัดขวางในช่วงเริ่มต้นการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ
ดังนั้น ที่ปรึกษาโครงการฯ เห็นว่า ถ้าจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ประเทศต้องการคือ ส่งเสริมการแข่งขันให้ shipper รายใหม่เข้ามาใช้งานได้ง่ายขึ้น เวลาจัดทำแผน ทางปตท.ก็อาจจะยืนยันสิทธิมาส่วนหนึ่ง ในกรณีที่อาจจะมีการใช้บ้าง แต่ส่วนที่เหลือที่อาจจะไม่มีการใช้ก็ควรปล่อย slot ที่เหลือออกมาเพื่อให้ shipper รายใหม่ เข้ามาใช้ในสัญญาระยะสั้น ปีต่อปี เช่น 30%ที่ปตท.ถืออยู่ก็อาจนำออกมาปล่อยได้ถ้าไม่ได้ใช้ slot จริงๆ โดยshipper รายใหม่ ก็จะได้ไม่ต้องรอการเสียสิทธิ
หรือ ปตท.อาจจะคืนสิทธิโดยสมัครใจ และมาเปิดให้ shipper รายอื่นเข้ามาใช้ และการคืนสิทธิใน TPA Code ก็สามารถระบุช่วงระยะเวลาได้
“ที่ปรึกษาฯ มองว่า ช่วงนี้เป็นการเริ่มต้นสู่การแข่งขัน จึงควรมีความสามารถในการให้บริการในระบบที่เพียงพอจะสนับสนุนให้ Shipper รายใหม่เข้ามาใช้ได้ ดังนั้น การคืนสิทธิชั่วคราวก็มีเหตุและมีผล และตอนนี้เราก็กำลังรอ LNG Terminal ที่หนองแฟบเปิดดำเนินการ เพื่อให้ Shipper รายใหม่เข้าไปจองใช้ได้ แต่ในช่วงแรก อาจต้องอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน”
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ มองว่า ปตท.ในฐานะผู้จัดหาก๊าซฯเพื่อความมั่นคงทางด้านก๊าซฯของประเทศ มีความจำเป็นต้องใช้ Terminal แบบต้องเพียงพอด้วย และต้นทุนต่ำด้วย ซึ่ง 2 ลักษณะยังมีความขัดกันอยู่ เพราะถ้าพูดถึงความมั่นคงก็จะมีราคาแพง จึงควรเป็นการกำหนดต้นทุนที่เหมาะสมมากกว่า
อีกทั้งหากมี Terminal แห่งใหม่เกิดขึ้นแล้ว Terminal ที่มาบตาพุดก็ควรยกเว้นจาก TPA ไปเลย เพื่อให้ ปตท.บริหารเป็น Terminal เพื่อความมั่นคง ส่วน Terminal หนองแฟบ ก็จะเป็น Terminal สำหรับการแข่งขันนำเข้า LNG ของประเทศ ซึ่งก็เป็นแนวทางของที่ปรึกษาโครงการฯ จะเตรียมนำเสนอผลการศึกษาเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งถึง กกพ.ต่อไป