ผู้ชมทั้งหมด 763
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความยั่งยืน พร้อมกับแสวงหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
โครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) จึงได้งานสัมมนา “The 15th PTT Group Petrochemical Outlook Forum” ภายใต้หัวข้อ “Shaping the Future of Petrochemicals Along the Sustainable Pathway” ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย แนวโน้มปิโตรเคมี และโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต ให้กับพนักงานกลุ่ม ปตท. หน่วยงานเอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า การจัดสัมนาฯของ PRISM ครั้งนี้ เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ซึ่งหากมองไปอีก 15 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2573 เป็นจังหวะที่สอดคล้องกับหมุดหมายที่หลายประเทศคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันสูงสุด (peak oil) จะเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน เช่น เกิดการลดใช้น้ำมันลงในบ้างประเทศ อย่างประเทศให้แถบตะวันตก แต่ในส่วนของฝั่งเอเชียฯ ยังมีการใช้อยู่ ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มตลาดปิโตรเคมีใน 15 ปีข้างหน้า ถือเป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่การลงทุนเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมากและต้องเตรียมพร้อมในระยะยาว ฉะนั้น การประเมินปัจจัยต่างๆที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทิศทางตลาดปิโตรเคมีในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการ่จะต้องศึกษาปัจจัยต่างๆเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจและปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเกียรติราคินภัทร กล่าวบรรยายพิเศษ “Global & Thailand Economic Outlook” โดยระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว แต่เชื่อว่าจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนเศรษฐกิจยังแผ่วลง หลังจากที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งจีน ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ดังนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะได้รับผลกระทบจากการที่จีนที่มีการผลิตสินค้าออกมาแข่งขันมากขึ้นและเกิดการดั้มราคา
ขณะที่ไทย ในระยะสั้นเศรษฐกิจยังเติบโตดี แต่ระยะยาวน่าเป็นห่วง เพราะไทยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฉะนั้น ต้องรอติดตามว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร
ทั้งนี้ ประเมินว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะยาวจะเติบโตช้า ส่งผลให้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะมีความต้องการใช้(ดีมานด์) ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ ขณะที่กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง
ด้าน ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) ได้ประมิน ทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเริ่มจากตลาดโพลิเอทิลีน(PE) คาดว่าความต้องการใช้จะยังเติบโตเฉลี่ย 3% ไปจนถึงปี 2572 แต่จะได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปี 2570-2571 โดยเฉพาะกำลังการผลิตจากจีน ส่งผลให้ราคาโพลิเอทิลีน จะยังอยู่ในระดับทรงตัว แม้ว่าดีมานด์จะเติบโตแต่ยังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องปรับตัวโดยการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ด้านตลาดโพลิโพรพิลีน(PP) ประเมินว่า จะยังเติบโตได้ในระดับเฉลี่ย 3% ต่อปี เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในช่วงปี 2567- 2572 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลืตภัณฑ์(สเปรด)ของโพลิโพรพิลีน(PP)กับแนฟทา ในช่วง 5 ปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ขณะที่ในปี 2572 ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะเติบโตราว 10-12% ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้รับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หันเข้าหานวัตกรรมเพิ่มผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเรื่องของรีไซเคิล พร้อมจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างการแข่งขันไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ




ส่วนตลาดอะโรเมติกส์ (พาราไซลีน(PX),เบนซีน(BZ)) ประเมินว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางของ ดีมานด์ที่จะเติบโตตาม GDP ขณะที่ซัพพลายใหม่ไม่ได้มีเข้ามาเพิ่มเติมมากนัก แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตยังต้องปรับตัวตามทิศทางของตลาด และเพิ่มเรื่องของการรีไซเคิลให้มากขึ้น
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Styrenic) ประเมินว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะยังเติบโตเฉลี่ย 5% ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเร็วขึ้น ภายใน 2-3 ปี จากอดีตจะปรับเปลี่ยนภายใน 3-5 ปี ส่งผลให้พลาสติกชนิดโพลีสไตรีน (PS) และABS จะมีดีมานด์เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ซัพพลายใหม่ไม่เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาเหมือนก่อนหน้านี้ ฉะนั้น คาดว่า ธุรกิจ Styrenic จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตจะต้องปรับธุริกจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งสู่เรื่องของความยั่งยืนให้มากขึ้น

ขณะที่ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวบรรยายพิเศษ “ทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” โดยระบุว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2566 และเห็นได้ชัดเจนในปี 2566 ที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)แทนรถยนต์สันดาป โดยมีการใช้สูงถึง 14 ล้านคัน เติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน และจีนเป็นประเทศ ที่มีการใช้มากที่สุด อยู่ที่ 8.1 ล้านคัน ขณะที่ไทย มีการใช้ปี 2566 อยู่ที่ราว 76,000 คัน เติบโตขึ้น 600% และนอร์เวย์ เป็นประเทศแรกในยุโรป ที่ประกาศว่า ในปี 2568 รถที่ใช้ในประเทศจะต้องเป็น EV 100% ซึ่งการที่นอร์เวย์ จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เกิดจากการขับเคลื่อนจากนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรถEV ในไทย ระยะแรกจะเป็นลักษณะของ OEM และในปีนี้ จะเป็นปีแรกที่เห็นการประกอบรถEV ในไทย ขณะที่การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ณ มิ.ย.2567 มีอยู่ประมาณ 10,846 หัวจ่าย จาก 3,125 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อประเมินความเหมาะสมของจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าต่อการใช้งานของรถEV เพื่อปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมต่อไป

“การที่ประเทศไทย ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2065 นั้น จำเป็นที่จะต้องมุ่งสู่การส่งเสริมรถEV และการที่จะบรรลุเป้าหมาย นโยบาย 30@30 นั้น ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายเป็นสำคัญ รวมถึง ยังต้องเพิ่มโอกาสการลงเรื่องของ EV Trucks และ EV Bus ด้วย”

ทั้งนี้ คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะเดียวกันมองว่า ตลาดฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ “อินเดีย” เป็นประเทศเป้าหมายที่ “รัฐบาลใหม่” ควรให้ความสำคัญและทำอย่างไรก็ได้เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้ได้ เนื่องจากอินเดียมีจำนวนประชากรมากและในอนาคตจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยในอนาคตได้
