ทอท.เปิดศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร หนุนไทยเป็นฟู้ดซัพพลาย Hub ในภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 2,050 

การดำเนินธุรกิจของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) นอกจากลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน หรือ Aero แล้วยังมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจนอกเหนือนการบิน หรือ Non-Aero ด้วย โดย ทอท.คาดว่า สัดส่วนรายได้ของธุรกิจ Non-Aero เป็น 50% ภายในปี 2565 และมากกว่า 50% ในปี 2566 ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจ Non-Aero ของ ทอท. นั้นยังเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่จะแสวงหารายได้จากธุรกิจเดิมอีกด้วย ซึ่งการจัดตั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) ดำเนินการลงทุนจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจ Non-Aero เติบโตในอนาคต

นายคทา วีณิน กรรมการรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) เปิดเผยว่า การดำเนินการโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง ณ. สนามบินต้นทางก่อนส่งออก (Pre-shipment Inspection Center)  เดิมเรียกว่า “Certify Hub” ภายในเขตปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง ทอท. กับ บริษัท ทาฟ่า คอนซอร์เที่ยม จํากัด (Tafa Consortium) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายและสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ โดย ทอท.ถือหุ้นในสัดส่วน  49%

ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า มาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่ายให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรของไทย รวมถึงเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบสินค้าเกษตร ทําให้สินค้าเกษตร คงคุณภาพและได้มาตรฐานก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางได้อย่างมีมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ไม่ถูกตีกลับจากปลายทาง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง นําเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรในภูมิภาค

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้เตรียมสถานที่บริเวณอาคารคลังสินค้าหลังที่ 4 (WH-4) ภายในเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับบริการ สินค้าเกษตร และสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านทาง ช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane) (PPL) ก่อนที่จะเข้าศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Pre shipment Inspection Center) ซึ่งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้านี้จะนำมาตรฐานการตรวจจากประเทศปลายทางมาตรวจที่ต้นทาง โดยการให้บริการ PPL จะเป็นการให้บริการเสริมและอํานวยความ สะดวกแก่ผู้ส่งออกเปรียบเสมือนการให้บริการชั้นธุรกิจ (Business Class) สําหรับผู้โดยสาร ซึ่งสินค้าที่ใช้บริการ PPL จะได้รับการดูแลและจัดเตรียมขึ้นเครื่องโดยผู้ชํานาญในการจัดเตรียมสินค้าทางอากาศโดยเฉพาะก่อนที่จะจัดส่งไป ประเทศปลายทางต่อไป

พ.ย.นี้เปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออกนั้นในวันที่ 29 กันยายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกร่วมกัน ก่อนที่ AOTTO จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พฤศจิกายน 2565  

“มั่นใจว่าการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่ายและมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง ณ.สนามบินต้นทางก่อนส่งออกนั้นจะช่วยให้ผู้ส่งออกมั่นใจได้ว่าหากมาส่งสินค้าเกษตรกับ AOTTO สินค้าจะไม่ถูกส่งกลับจากประเทศปลายทางแน่นอน ซึ่งทาง ทอท. ได้มีการประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีการส่งออกจำนวนมาก นอกจากมาตรฐานทางยุโรปแล้ว ได้มีการตรวจมาตรฐานสินค้าเกษตรที่จะส่งออกไป จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกลุ่ม LMV ด้วย”นายคทา กล่าว

5 ปี ไทยเป็น “ฟู้ดซัพพลาย Hub”

นายคทา กล่าวว่า แผนงานที่จะดำเนินการหลังจากเปิดศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง ณ.สนามบินต้นทางก่อนส่งออกไปยังปลายทางนั้นภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2570 จากนี้ AOTTO จะดำเนินโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกเอาสินค้าจากทั่วโลกมาเก็บในคลังสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกว่า “แคนทีน ออฟ เดอะเวิล์ด” ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปยังปลายทางทั่วโลก

ทั้งนี้ตนมองว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นท่าอากาศยานที่มีสายการบินจากทั่วโลกมาทำการบิน ขึ้นลง ปีละกว่า 300,000 เที่ยวบินต่อปี มีจุดหมายปลายทางเชื่อมต่อเส้นทางจำนวนมาก หากผู้ประกอบการนำสินค้าที่มีชื่อ และคุณภาพจากแหล่งต้นทาง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือ สกินแคร์มาเก็บที่คลังปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากมีการส่งออกไปขายในภูมิภาคเอเซีย หรือ ส่งออกเชื่อมต่อไปยังยุโรป AOTTO ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเสมือนกับการย้ายตลาดโลจิสติกส์เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เอาของมาใกล้ตลาดมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็น ฟู้ดซัพพลาย Hub ในภูมิภาค จากปัจจุบันบริษัทส่งออกต่างๆ จะไปนำสินค้าเก็บที่คลังสิงคโปร์ หาก AOTTO เปิดตลาดทำคลังสินค้าและกระจายได้ที่สุวรรณภูมิจะเป็นช่องทางทำรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาล

โดยจากที่ได้เข้าไปดําเนินการบริหารพื้นที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า (Free Zone) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบันจะพบว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี และในจำนวนสินค้าทั้งหมดนี้จะมีสินค้าประเภทเน่าเสียง่ายโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ซึ่งในประเทศต่างๆ จะมีการเข้มงวดในการตรวจสอบนําเข้าสินค้าประเภทนี้ เนื่องจากอาจมีแมลงศัตรูพืช และสารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนถึง 10%  หรือประมาณ 150 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่าภายใน 1 ปีที่ AOTTO เปิดให้บริการจะสามารถกลับมาทำการขนส่งสินค้าทางการเกษตรที่เน่าเสียง่ายมาอยู่ที่ 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี หลังจากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 นั้นทำให้ยอดการขนส่งสินค้าเกษตรลดลงเหลือประมาณ 130-140 ล้านกิโลกรัมต่อปี และจากความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ AOTTO ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี (2566-2570) จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าประเภทเน่าเสียง่ายโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เพิ่มขึ้นอีก 25% หรือขนส่งสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกถึง 200 ล้านกิโลกรัมต่อปี