ผู้ชมทั้งหมด 809
ทล.เร่งสำรวจออกแบบขยายถนนเขาหลัก – ลำแก่น จ.พังงา เชื่อมอ่าวไทย- อันดามัน หนุนแลนด์บริดจ์ รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบขยายทางหลวงหมายเลข 4 ตอน (ถนนเพชรเกษม) เขาหลัก – ลำแก่น ในพื้นที่จังหวัดพังงา จากขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจ เนื่องจากสภาพเส้นทางเดิมเป็นทางลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร แนวเส้นทางจะลัดเลาะคดเคี้ยวตามขอบภูเขาทำให้การเดินทางและภาคการขนส่งสินค้าไม่ได้รับความสะดวกและมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
โดยมีจุดเริ่มต้นที่ กม. 796+900 พื้นที่ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จากนั้นแนวเส้นทางผ่านแยก ซอยนางทอง ศาลเจ้าพ่อเขาหลัก อุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่ และจุดสิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข 4 ที่ กม. 802+900 ในพื้นที่ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา รวมระยะทางทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า และตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างโครงการประมาณ 500 ล้านบาท
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งมีรูปแบบการพัฒนาโครงการ 2 รูปแบบดังนี้
รูปแบบที่ 1 ช่วง กม.796+000.000 – กม.798+100 ดำเนินการออกแบบปรับปรุงทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีเกาะกลางแบบยกปูด้วยแผ่นคอนกรีตเพื่อแบ่งแยกทิศทางการจราจรและจัดระบบการจราจรท้องถิ่นให้สมบูรณ์และปลอดภัย
รูปแบบที่ 2 ตำบล ช่วง กม.798+100 – กม.798+900 และ กม.799+800 – กม.802+900 โดยบริเวณพื้นที่ภูเขาออกแบบขยายทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.50 เมตร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) พร้อมทางเดินเท้าจากบ้านบางหลาโอนถึงบ้านเขาหลัก
สำหรับช่วง กม.798+900 – กม.799+800 ระยะทาง 0.900 กิโลเมตร ช่วงนี้ผ่านภูมิประเทศภูเขาสูงชันและคดเคี้ยว การออกแบบแนวเส้นทางช่วงบริเวณนี้ จึงออกแบบเป็นทางหลวงต่างระดับกันระหว่างคันทางด้านซ้ายทางและคันทางด้านขวา โดยคันทางด้านขวาจะใช้ระดับถนนเดิมเป็นการปรับปรุงผิวจราจรเดิมในทิศทางลงจากภูเขา และก่อสร้างคันทางใหม่ด้านซ้ายทางในทิศทางขึ้นภูเขา
โดยจะมีระดับก่อสร้างต่างจากคันทางเดิม 1.00 – 8.00 เมตร เพื่อให้ระดับถนนใหม่พ้นจากการตัดภูเขา ด้วยพื้นที่เขตทางจำกัด 40 เมตร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา จึงได้ออกแบบโดยใช้กำแพงป้องกันดินแนวดิ่ง (MSE Wall) กั้นดินบริเวณลาดชัน แทนการถมลาดคันทาง และเพื่อการเสริมกำลังดินเดิมและเสริมโครงสร้างกำแพงกันดิน เสริมความแข็งแรงสร้างเสถียรภาพและป้องกันการถล่มของดิน อีกทั้งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรูปแบบทางหลวงเป็นการออกแบบขยายทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.50 เมตร
แนวเส้นทางโครงการมีทางแยก 1 แห่ง คือ แยกซอยนางทองที่ กม. 797+054 ออกแบบปรับปรุงเป็นทางแยกแบบควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ทั้งนี้เส้นทางโครงการมีบางช่วงที่ตัดผ่านย่านชุมชนและทางหลวงท้องถิ่นจึงได้ออกแบบจัดการจราจรและจุดกลับรถออกเป็น 4 รูปแบบประกอบด้วยดังนี้
1. รูปแบบจุดกลับรถระดับพื้นราบจำนวน 2 แห่งคือ กม. 796+892 และ กม. 797+222 เป็นจุดกลับรถแบบเปิดเกาะกลางบริเวณด้านหัวและด้านท้ายแยกซอยนางทอง และ กม. 801+870 จุดกลับรถแบบเปิดเกาะบริเวณบ้านเขาหลักเพื่อรองรับรถที่จะเลี้ยวรถเข้าซอยเขาหลัก
2. รูปแบบสะพานทางลอดสำหรับกลับรถ จำนวน 3 แห่ง 1) กม. 798+090.000 ความสูงช่องลอด 2.50 เมตร 2) กม. 800+330.000 บริเวณบ้านหาดเล็ก ความสูงช่องลอด 5.50 เมตร และ 3) กม. 800+047.500 ความสูงช่องลอด 5.50 เมตร
3. รูปแบบจุดกลับรถใต้สะพานข้าม กม.801+599.000 คลองเขาหลัก ความสูงช่องลอด 2 เมตร นอกจากนี้บริเวณบ้านบางหลาโอนได้ออกแบบทางลอดคนเดินให้นักท่องเที่ยว
4. รูปแบบทางข้ามสำหรับคนเดินจำนวน 3 แห่งคือ กม. 797+000 กม.797+445 และ กม. 797+670 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่บริเวณบริเวณย่านชุมชนของบ้านบางหลาโอน ระยะทาง 1.20 กิโลเมตร โดยทางลอดมีความกว้าง 2.40 เมตร และสูง 2.20 เมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินลอดใต้ทางลอดข้ามถนนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับมาตรฐานของโครงข่ายทางหลวงสาย ระนอง – พังงา – ภูเก็ต เพื่อให้สามารถรองรับการคมนาคมขนส่งได้อย่างเพียงพอใน 20 ปีข้างหน้า สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และสอดรับกับวิถีของชุมชน เพื่อให้ประชาชนและและภาคขนส่งในพื้นที่ภาคใต้เดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570) รวมทั้งสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดระนองตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Dorridor : SEC) และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์หรือสะพานระเบียงเศรษฐกิจ)
ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรมว.คมนาคม ที่เร่งผลักดันให้ ทล.ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในพื้นที่ภาคใต้และด้านการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคกระตุ้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวงด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความปลอดภัยในการสัญจร และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวงต่อไป