ทล. ลงนาม OR-CP สร้างจุดพักรถมอเตอร์เวย์ M7 เตรียมประมูลจุดพักรถ M6 – M81 ปลายปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 437 

ทล. ลงนาม OR-CP สร้างศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา แห่งแรกในไทยรูปแบบ PPP มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้าน ต้นแบบที่พักริมทางครบวงจรระดับโลก ยกระดับสู่แลนด์มาร์ค พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ก่อนขยายผลไปมอเตอร์เวย์ M6 – M81 คาดเปิดประมูลปลายปีนี้  

เมื่อวันที่ 19 ก..ย. ณ โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง ช่วงชลบุรี – พัทยา ระหว่าง กรมทางหลวง (ทล.) และ บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้แทนบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด  บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดย นายสุริยะ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานที่พักริมทางสู่ระดับสากล ที่ถือเป็นโครงการแรก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพให้กับประชาชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มประสบการณ์การเดินทาง เพิ่มความสุขและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง หลังจากนี้ ทล.จะขยายผลดำเนินโครงการศูนย์บริการทางหลวงไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)  สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือ M 6  และมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี หรือ M 81 ต่อไป

ด้าน นายสราวุธ กล่าวว่า โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นโครงการที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500 ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยแบ่งพื้นที่บริการเป็น 2 ฝั่ง ทิศทางฝั่งขาออกกรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 62 ไร่ ทิศทางฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 59 ไร่ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรผ่านพื้นที่โครงการมากกว่า 100,000 คันต่อวัน สำหรับการจัดสรรพื้นที่โครงการแบ่งเปฌนพื้นที่เชิงพาณิชย์ 23,380 ตารางเมตร(ตร.ม.) พื้นที่สีเขียว 35,200 ตร.ม. และพื้นที่ใช้สอยบนอาคารยกระดับคร่อม 1,500 ตร.ม.

โครงการนี้นับเป็นที่พักริมทางแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการในรูปแบบ PPP ที่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาบริหารจัดการ และดูแลรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พักริมทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสัญญามีระยะเวลาดำเนินงาน 32 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง มีระยะเวลา 2 ปี วงเงินค่าก่อสร้าง 1,672 ล้านบาท โดยเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินทุน รวมทั้งออกแบบและก่อสร้างพัฒนาที่พักริมทาง และจัดให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการตามข้อกำหนด 

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา มีระยะเวลา 30 ปี วงเงินลงทุน 13,570 ล้านบาท เมื่อโครงการเปิดให้บริการ เอกชนมีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลและบำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทาง โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ที่กำหนด ทั้งนี้เอกชนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ภาครัฐปีแรก31.6 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 10% ทุก 3 ปี และมีค่าตอบแทนตลอดอายุสัญญา 1,511 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทล.จะเร่งรัดเอกชนให้เริ่มออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปี 67 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วน เช่น ลานจอดรถ ห้องสุขา และพื้นที่พักผ่อน ในปี 68 และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 69 ต่อไป

ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (“PTTRM”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (“บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด”) ระหว่าง PTTRM และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด (“CPE”) โดย PTTRM ถือหุ้นในสัดส่วน 55% และ CPE ถือสัดส่วน 45% ได้รับโอกาสจาก ทล. ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของที่พักริมทางระดับโลก และเป็น Landmark แห่งใหม่ของประเทศไทย มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย

พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย การออกแบบโครงการยึดหลัก Universal Design โดยผสานนวัตกรรมเข้ากับแนวคิดอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสะอาด เพื่อสร้างยั่งยืนให้กับโครงการในระยะยาว อีกหนึ่งจุดเด่นของโครงการ คือ อาคารยกระดับคร่อมเหนือมอเตอร์เวย์ (Crossover) ที่มีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร เชื่อมทั้งสองฝั่งของโครงการ รองรับการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยออกแบบให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดผู้ใช้บริการให้แวะพักมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาและบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ โครงการศูนย์บริการทางหลวงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการศูนย์บริการทางหลวงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางกรมทางหลวงจะดำเนินการเปิดประกวดราคาเมื่อไหร่

ทั้งนี้การลงทุนบริหารศูนย์บริการทางหลวงนั้นมั่นใจว่าจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน Non-oil เพิ่มมากกว่า 30% ในปี 2030

นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กล่าวว่า สำหรับแผนดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารจัดการสถานที่บริการทางหลวงบนมอเตอร์เวย์  M 6  และ M 81 นั้น คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้  และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 69 ก่อนเปิดบริการบางส่วนในปี 70 และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 71 โดยในส่วนของ M6 มีระยะเวลาโครงการ 32 ปี  แบ่งเป็น 2 สัญญา มีค่าก่อสร้างรวม 2,162 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 7,763.90 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในปีแรก ในสัญญาที่ 1 จำนวน 13.20 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 9% ทุก 3 ปี และสัญญาที่ 2  จำนวน 12.90 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 9% ทุก 3 ปี ส่วนของ M 81 มีระยะเวลาโครงการ 32 ปี มีค่าก่อสร้าง 1,460.14 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 4,843.42 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในปีแรก 6.5 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 9% ทุก 3 ปี

ขณะที่โครงการพัฒนาและบริหารจัดการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุดนั้น อยู่ระหว่างการทบทวนรูปแบบการลงทุน คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ และมีแนวโน้มว่าต้องยกเลิกการประมูลในครั้งแรก เนื่องจากไม่มีเอกชนสนใจมาซื้อซองประมูล เพราะไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ทล.อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการลงที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เปิดการลงทุนต่อไป