ทบ.ควงกฟผ.ศึกษาโซลาร์ฟาร์ม30,000MW

ผู้ชมทั้งหมด 1,591 

กองทัพบก กฟผ.ประกาศความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) บนพื้นที่ราชพัสดุ 3 แสนไร่รองรับการผลิตไฟฟ้ากว่า 30,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าเฟสแรกลงทุน 300 เมกะวัตต์ที่อ.กาญจนบุรี

พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวภายหลังร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ว่า กองทัพบก และ กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานหมุนเวียน จึงทำให้เกิดความร่วมมือกัน เพื่อแสวงหาและพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยและประชาชนได้รับประโยชน์ในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อัตราค่าไฟฟ้าลดลง ลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ เป็นการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน

โดยการร่วมลงนามในข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ซึ่งปัจจุบันกองทัพบกมีพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศรวมกว่า 4.5 ล้านไร่ แต่จะนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาในโครงการโซลาร์ฟาร์มจำนวน 3 แสนไร่ บริเวณพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งคาดว่าจะมีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ในจำนวน 3 แสนไร่นั้นในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการศึกษาภายในปีนี้ก่อนจำนวน 3,000 ไร่คาดว่าสามารถรองรับการติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ราว 300 เมกะวัตต์ ทั้งนี้พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในการลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคครัวเรือนที่มีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในจำนวน 30,000 เมกะวัตต์นั้นเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศไทยในช่วงเวลาพีค ขณะการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในระยะแรกจำนวน 300 เมกะวัตต์นั้นคาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนก็จะมีความชัดเจนเรื่องการลงทุน อย่างไรก็ตามในระหว่างการศึกษาจะต้องดำเนินการควบคู่กับการเจรจากับกระทรวงพลังงาน และผู้จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผนพีดีพี) ก่อนเพราะเป็นกำลังการผลิตที่ใหญ่ ซึ่งต้องมีความร่วมมือกันหลายฝ่ายรวมทั้งภาคเอกชนด้วย