ผู้ชมทั้งหมด 157
ดีดี “การบินไทย” ชี้ไม่เกิน 3 เดือนได้ข้อสรุปร่วมลงทุน MRO กับ “บางกอกแอร์เวย์ส” คาดใช้งบลงทุน 1 หมื่นล้าน ลั่นมีศักยภาพเพียงพอ พร้อมถือหุ้นใหญ่ หวัง EEC เร่งผลักดันให้ลงทุนในปีนี้
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงการร่วมมือทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กับบริษัท บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ว่า การลงนามกับ บางกอกแอร์เวย์ส ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ MRO นั้นเนื่องจากว่า บางกอกแอร์เวย์ส เป็นผู้ประกอบการสายการบินของไทยที่มีศักยภาพที่มีเครื่องบินจำนวนมาก และยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับการบินไทยในด้านอื่นอยู่แล้วจึงได้ร่วมมือกัน ซึ่งการร่วมมือกับบางกอกแอร์เวย์สนั้นเป็นสัญญาณให้เห็นว่าคนไทยก็มีศักยภาพเพียงพอต่อการลงทุนสร้าง MRO

ทั้งนี้ภายหลังจากการลงนาม MOU กันแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะเปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน โดยการบินไทยก็เอาผลศึกษาไปให้ทางบางกอกแอร์เวย์สดูว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันบางกอกแอร์เวย์สก็ต้องเอารายละเอียดที่ได้ศึกษามาให้กับทางการบินไทยดูด้วยเช่น ขณะที่สัดส่วนการลงทุน โครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไรนั้นคาดว่าไม่เกิน 3 เดือนหลังจากการลงทุน MOU ก็จะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามในสัดส่วนการถือหุ้นนั้นต้องเป็นการบินไทยที่ต้องถือหุ้นใหญ่ ส่วนกรอบวงเงินลงทุนโครงการ MRO จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปิดโอกาสให้สายการบินไทยแอร์เอเชียร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ นายชาย กล่าวว่า หากมีการลงทุนในธุรกิจ MRO การร่วมลงทุนต้องเป็นสายการบินสัญชาติไทยแท้เท่านั้น ซึ่งการร่วมลงทุนกับบางกอกแอร์เวย์สก็มีศักยภาพด้านการเงินที่เพียงพออยู่แล้ว แต่การลงทุนในส่วนย่อยใน MRO เช่น การเปิดขายชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน การพ่นสีเครื่องบินก็อาจจะดึงพันธมิตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งก็จะเป็นทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมลงทุนในส่วนนี้
สำหรับการลงทุน MRO ในเบื้องต้นจะซ่อมเฉพาะเครื่องบินของการบินไทย และเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยในส่วนของการบินไทยภายในปี 2572 มีเป้าหมายเพิ่มฝูงบินรวมเป็น 143 ลำ รวมกับบางกอกแอร์เวย์สก็จะมีเครื่องรวมกว่า 200 ลำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการซ่อม เป็นการควบคุมบริหารความเสี่ยงในการซ่อมบำรุง และไม่ต้องสูญเสียดุลการค้า หลังจากนั้นในระยะถัดไปก็จะเปิดรับซ่อมเครื่องบินของสายการบินอื่น โดยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้ สามารถรองรับการซ่อมเครื่องบินได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide body) และเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow body) ซึ่งในระยะแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2571
นายชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยได้ยื่นแสดงเจตจำนงค์ไปยังสำนักงานคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ถึงความประสงค์ในการเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนา MRO ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งตั้งในเขต EEC แล้ว แต่หากท่าอากาศยานอู่ตะเภามีความประสงค์จะเปิดให้มีการประกวดราคาพัฒนาโครงการ MRO การบินไทยก็พร้อมเข้าร่วมประกวดราคา
ทั้งนี้ในการดำเนินการพัฒนาโครงการ MRO ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้นตนเชื่อว่า EEC จะเร่งผลักดันโครงการให้สามารถดำเนินโครงการได้ภายในปีนี้ โดยไม่ต้องรอให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง) รวมถึงไม่ต้องรอให้มีการลงทุนเมืองการบิน เพราะสามารถดำเนินการลงทุนได้ทันที ด้วยพื้นที่ปัจจุบันหากท่าอากาศยานอู่ตะเภามีการต่อ Taxi Way สามารถทำได้เลย