“ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ยกระดับสนามบินทอท.เป็น Green Airport มุ่งสู่ Net Zero ภายใน 10 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 233 

“AOT มุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ดังนั้นการดำเนินธุรกิจจึงไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้เฉพาะการทำกำไรเพียงอย่างเดียว ต้องตระหนักถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดย AOT ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2575” คำยืนยันจาก ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) โดยในช่วง 4 ปีแรก มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 50% จากที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ปีละประมาณ 3 แสนตัน ให้เหลือ 1.5 แสนตัน และเดินหน้าสู่ Net Zero ภายใน 10 ปี (2575)

เริ่มแผนแม่บทด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ตามแผนแม่บทด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทาง AOT ได้มีการนำร่องโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ของอาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ขนาด 10 เมกะวัตต์ เพื่อนําพลังงานมาใช้หมุนเวียนภายในท่าอากาศยาน และมีแผนจะขยายเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 ซึ่งก็มีแผนที่จะขยายการติดตั้งพื้นที่บ่อน้ำ พื้นที่อื่นๆ ที่อยู่รอบๆ และข้างรันเวย์ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่และความสูงไม่สามารถก่อสร้างเป็นอาคาร หรือพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ มาสร้างเป็นโซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถทดเทนการใช้พลังงานในเวลากลางวันของอาคารผู้โดยสารได้ทั้งหมด จากปัจจุบันที่ ทสภ.ใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ 60 เมกะวัตต์ และภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2575) จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากพอที่จะเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนโดยไม่มีการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ”  

ติดโซลาร์เซลล์ลดต้นทุนพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนฯ

“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับท่าอากาศยานนั้นผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า นอกจากพื้นที่จะมีศักยภาพสร้างโซล่าฟาร์มได้แล้วยังได้พลังงานไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าการซื้อโดยตรงจากการไฟฟ้าฯ ประมาณ 25% ดังนั้นในการดำเนินการเรื่อง Net Zero เรื่องไฟฟ้า นอกจากจะทำให้เราเข้าสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero ได้แล้วยังสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าขององค์กรได้ด้วย ซึ่งนอกจากประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 20% จากปกติที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 100 ล้านบาทก็จะลดลงเหลือประมาณปีละ 80 ล้านบาท”

ยกระดับท่าอากาศยานของ AOT เป็น Net Zero Airport

“สำหรับรูปแบบการลงทุนโครงการผลิตไฟฟาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น AOT ได้ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินการโครงการระบบผลิตไฟฟ้า และจ่ายไฟให้ AOT ในอัตราที่ถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า 25% ส่วนของท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ AOT อีก 5 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต, และหาดใหญ่ นั้นได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกภายใต้ ชื่อ AEA ทำหน้าที่ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์และติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารจัดการการใช้พลังงานทั้งหมด เพื่อทำตามเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี นอกจากทสภ.แล้ว ท่าอากาศยานทั้งหมดที่ AOT ดูแลจะใช้พลังงานในช่วงเวลากลางวันจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงท่าอากาศยานอีก 3 แห่ง คือ กระบี่ บุรีรัมย์ และอุดรธานี ที่อยู่ระหว่างการรับโอนจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ก็จะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ท่าอากาศยานภายใตเการดูแลทั้งหมดของ AOT กลายเป็น Net Zero Airport”

ทยอยเปลี่ยนรถที่ให้บริการในพื้นที่ Airside เป็น EV ทั้งหมดภายใน 4 ปี

“นอกจากนี้ AOT ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับ AOT ลดการใช้พลังงาน โดยมีการออกข้อกำหนดว่าภายในระยะเวลา 4 ปี รถที่ให้บริการในพื้นที่ Airside ต้องเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ( Electric Vehicle) ทั้งหมดตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้พลังงานนํ้ามัน โดย AOT ได้ประสานงานไปยังบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Bangkok Flight Services (BFS) แล้วว่า รถที่จะจัดหามาใหม่สำหรับใช้ในพื้นที่ Airside ต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นและภายใน ระยะเวลา 4 ปีต้องเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ AOT ผลิตได้ ซึ่ง AOT มีโครงการติดตั้ง EV Charging Station ทั้งในพื้นที่ Airside, Landside และ Custom Free Zone รวม 7 จุด เพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนรถที่ให้บริการที่ทสภ.เป็นรถ EV ได้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี”

ตั้งเป้าภายใน 1 ปี เปลี่ยนรถ Taxi บริการที่ทสภ.เป็น Taxi EV 2 พันคัน

“ขณะเดียวกัน AOT ยังร่วมมือกับบริษัทที่ให้บริการรถไฟฟ้าในการจัดหารถ Taxi มาให้ผู้ขับ Taxi เช่าในราคาถูก เพื่อลดต้นทุน จากปัจจุบันผู้ขับ Taxi มีต้นทุนค่าเช่าอยู่ประมาณ 1,000-1,200 บาทต่อวัน เหลือวันละประมาณ 750 บาท และต้นทุนพลังงานยังถูกลงด้วย เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้แก๊ส ซึ่งส่งผลให้ทั้ง ผู้ขับ AOT และผู้โดยสารได้ประโยชน์ เพราะได้ใช้บริการรถใหม่ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการทยอยเปลี่ยนไปใช้รถ Taxi  EV แล้วประมาณ 500 ค้น จากรถTaxi ที่ให้บริการที่ ทสภ.ทั้งหมดกว่า 4,000 คัน และตั้งเป้าภายใน 1 ปีให้มีรถ Taxi EV ให้บริการที่ ทสภ.ประมาณ 2,000 ค้น”

ผลิตน้ำประปาใช้เองภายในพื้นที่ทสภ.งดการซื้อให้ได้ภายใน 4 ปี

“AOT ยังได้ทำการวิเคราะห์ว่าเรื่องของน้ำด้วย โดยจะใช้พื้นที่คูน้ำโดยรอบ ทสภ.ซึ่งเป็นน้ำที่เราใช้ในการบริหารจัดการรับน้ำในช่วงหน้าน้ำอยู่แล้วนำมาผลิตเป็นน้ำประปาใช้เองภายในพื้นที่ทสภ. เพื่อลดการใช้น้ำประปาที่ซื้อจากการประปาฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนเรื่องน้ำด้วย นโยบายความยั่งยืนด้านพลังงานเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ทั้งระบบนิเวศธุรกิจ (Eco System) และ AOT ต้องการก้าวไปสู่เป้าของการเป็น Net Zero ทั้งเรื่องไฟฟ้า และเรื่องน้ำภายในระยะเวลา 4 ปี”