“ชิปเปอร์แอลเอ็นจี”รายใหม่ ลุ้นนำเข้าก๊าซฯปี 65 รวม 2.7 ล.ตัน

ผู้ชมทั้งหมด 1,538 

“พลังงาน” จ่อเกลี่ยโควตานำเข้าก๊าซฯ ปีนี้ 4.5 ล้านตัน ชดเชยแหล่งเอราวัณผลิตต่ำกว่าเงื่อนไข PSC เปิดทาง “ชิปเปอร์แอลเอ็นจี รายใหม่” แข่งขันนำเข้า ปี65 ปริมาณรวม 2.7 ล้านตัน ส่วนปตท. ลุ้นสิทธิ 1.8 ล้านตัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า หลังเปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการจากระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว ต่ำกว่าเงื่อนไขสัญญา PSC ที่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซฯต้องไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ทำให้กระทรวงพลังงาน มีการประเมินว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เบื้องต้นเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านตัน

โดยปริมาณก๊าซ LNG ดังกล่าวที่จะนำเข้าในปีนี้ อาจเป็นการนำเข้าโดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ปริมาณ 1.8 ล้านตัน และที่เหลือ 2.7 ล้านตัน จะเป็นการนำเข้าของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า(Shipper) รายใหม่ ภายใต้ระบบแข่งขันตลาดเสรี

“ก็ต้องไปดูว่า แหล่งเอราวัณ จะผลิตก๊าซฯได้จริงในปริมาณเท่าไหร่ หากต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก็อาจต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าLNG ก็จะมีทั้ง การนำเข้าโดย ปตท.และก็Shipper รายใหม่ด้วย แต่หากราคาLNG ที่จะนำเข้ายังแพง และไม่มี Shipper สนใจนำเข้า ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะจัดหาก๊าซฯให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศต่อไป”  

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดการจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ รวมถึงราคาที่เหมาะสมทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลต่างๆ เพื่อดูแลความมั่งคงด้านพลังงานของประเทศไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน และมีราคาที่กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้ กลุ่ม ปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ ตามเงื่อนไขสัญญา PSC รักษากำลังผลิตก๊าซฯในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ได้ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ มากกว่า เพื่อลดผลกระทบการนำเข้าก๊าซ LNG ให้เป็นไปตามแผนฯที่ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้

ทั้งนี้ การประชุม กพช. เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ได้เห็นชอบ 5 แนวทางดำเนินการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อรับมือกรณีปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณตำกว่าแผนฯ ดังนี้

1.จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)  

2) การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมหมดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2564 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565       

3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม กลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนนำเข้า LNG ได้ 2 แสนตันต่อปี

4) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าตะวันตก 

5) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม จากเดิมกำหนด COD กลางปี 2566 ก็อาจเป็นไตรมาส 4 ปี2565 แทน