จับตา!!! “โอไมครอน” กดดันความต้องการใช้น้ำมัน

ผู้ชมทั้งหมด 718 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว หลังกลุ่มผู้ผลิตคงกำลังการผลิตตามแผน ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทวิเคราะห์จากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (6 – 10 ธ.ค. 64) มีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง หลังราคาปรับตัวลดลงมากว่า 10 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์คาดว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 64-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้จะมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไรวัสโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้นกดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีการออกมายืนยันอย่างเป็นทางการของความร้ายแรงและความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์นี้

จับตาแผนการระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของชาติผู้นำเข้าน้ำมันดิบ หลัง รมว. กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะปรับเลื่อนแผนการปล่อยน้ำมันออกจากคลัง SPR ให้ช้าออกไป หลังราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลของตลาดต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอไมครอนในหลายภูมิภาค จากก่อนหน้านี้ที่มีแผนปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ทั้งหมดรวม 50 ล้านบาร์เรลเพื่อคลายความตึงตัวของตลาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 64 เป็นต้นไป

ขณะที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค.65 ตามแผนการเพิ่มกำลังการผลิตเดิม โดย รมว.กระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ระบุว่าทางกลุ่มไม่กังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอไมครอนและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนการผลิตของกลุ่ม อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกเดือน พ.ย.64 อยู่ที่ 27.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 0.22 ล้านบาร์เรล แต่ยังต่ำกว่าข้อตกลงที่ระดับ 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนการประชุมเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JPCOA) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 มีความคืบหน้ามากขึ้นหลังผู้แทนเจรจาชุดใหม่ของอิหร่านพร้อมให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจในการหาข้อตกลงในประเด็นต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีข้อสงสัยว่าอิหร่านมีการละเมิดข้อตกลงอยู่หลายประการ เช่นการสะสมยูเรเนียมที่สุงกว่าข้อตกลงถึง 12 เท่า ส่งผลให้ความเป็นไปได้ในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากอิหร่านยังคงต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม

ด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Jerome Powell มีการแถลงต่อวุฒิสภาว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะเร่งยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ Quantitative Easing (QE) ในช่วงกลางปี 2565 ให้เร็วขึ้น 2-3 เดือน หลังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งนี้นาย Jerome Powell จะมีการนำมาตรการดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (FOMC) ในวันที่ 14-15 ธ.ค.64 เพื่อตัดสินใจต่อไป

ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกปีนี้ลง 0.1% เป็นเติบโตที่ระดับ 5.6% จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม OECD ยังคงการคาดการณ์ของการเติบโตของ GDP ในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปี 2564

ธนาคาร Deutsche Bank คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในไตรมาส 4 ปีนี้ ที่ 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 1 ปี 2565 โดย Deutsche Bank คาดว่าตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะเกินดุล 1.5 ล้านบาร์เรลในไตรมาสแรกปี 2565 จากอุปทานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มโอเปกและสหรัฐฯ

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมยูโรโซนและญี่ปุ่นไตรมาสที่ 3 ปี 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯ เดือน พ.ย.64 รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ