ผู้ชมทั้งหมด 1,522
เป็นที่ทราบกันดีว่ากระทรวงคมนาคมนั้นเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีการลงทุนในแต่ละปีหลายโครงการด้วยกัน ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และอากาศ ที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการลงทุนโครงการใหญ่ และในแต่ละปีก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณในจำนวนมาก
โดยในปี 2565 นั้นได้รับจัดสรรงบประมาณการลงทุนใหม่ 974,454 ล้านบาท จำนวน 24 โครงการ และเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องปี 2564-2565 วงเงินลงทุน 516,956 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ ซึ่งเท่ากับว่าการลงทุนของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดในปี 2565 นั้นคิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 1,491,410 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 37 โครงการ
ทั้งนี้การลงทุนตามแผนของกระทรวงคมนาคมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมในปี 2565 นั้นมีหลายโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ การลงทุนพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์ และการพัฒนาท่าอากาศยาน รวมถึงการพัฒนาด้านขนส่งทางน้ำ เพื่อบูรณาการโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน
ระบบราง 6.24 แสนล้าน
สำหรับการลงทุนใหม่ในปี 2565 จำนวน 974,454 ล้านบาท นั้นแบ่งเป็นการลงทุนในระบบรางวงเงินรวมมากที่สุด 624,879 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท (ปี 2565-2569) 2. โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 67,965 ล้านบาท (ปี 2565-2569)
3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 224,544 ล้านบาท (ปี2565-2571) 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ วงเงิน 122,067 ล้านบาท (ปี 2565-2570) และ 5.โครงการสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 124,958 ล้านบาท (ปี 2565-2570)
โดยระบบรางนั้นมีกรมการขนส่งทางรางเป็นผู้กำกับดูแล และมี 2 หน่วยงานหลักผู้บริหารจัดการลงทุน คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จากงบลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งจะดำเนินการประกวดราคาได้ในปี 2565 ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันได้ส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างโยธาให้เอกชนเรียบร้อยแล้ว สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ทันที
ทางถนน 2.81 แสนล้าน
ส่วนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน นั้นส่วนใหญ่เป็นโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 281,205 ล้านบาท ลงทุน 12 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) วงเงิน 56,035 ล้านบาท (ปี 2565-2568) 2. โครงการมอเตอร์เวย์ M9 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (หรือดอนเมืองโทลล์เวย์) วงเงิน 27,800 ล้านบาท (ปี 2566-2569)
3.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน 29,550 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 4.โครงการมอเตอร์เวย์ M8 ช่วงนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 51,760 ล้านบาท 5.โครงข่ายเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) กับทางหลวงหมายเลข 32 วงเงิน 4,700 ล้านบาท
6.โครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N1 และ N2 วงเงิน 37,870 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 7.โครงการก่อสร้างทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 14,470 ล้านบาท (ปี 2567-2570) 8.โครงการก่อสร้างทางด่วนส่วนต่อขยายสายฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 21,919 ล้านบาท (ปี 2567-2570)
9.โครงการก่อสร้างทางด่วน ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต วงเงิน 30,456 ล้านบาท (ปี 2568-2571) 10. โครงการพัฒนาถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม วงเงิน 1,600 ล้านบาท (ปี 2565-2567) 11. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4,765 ล้านบาท (ปี 2566-2568) 12. นโยบายแต่งแต้ม สีสันทางหลวงส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 280 ล้านบาท (ปี 2565-2566)
ลงทุนทางอากาศ 5.9 หมื่นล้าน
ขณะที่โครงการทางอากาศ จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 59,448.01 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818.51 ล้านบาท (ปี 2565-2569) 2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829.50 ล้านบาท (ปี 2565-2572) 3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 3,250 ล้านบาท (ปี 2565-2570) 4. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง วงเงิน 3,550 ล้านบาท (ปี 2565-2571)
ทางน้ำ-ทางบกรวมวงเงิน 8.9 พันล้าน
โครงการทางน้ำ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 7,561 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งช่วง อ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4 กิโลเมตร วงเงิน 1,010 ล้านบาท (ปี 2565) เขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.พระนครศรีอยุธยา ถึง อ.คลองหลวง ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงิน 5,105 ล้านบาท (ปี 2566) 2.โครงการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 1 วงเงิน 586 ล้านบาท (ปี 2565) ชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 2 วงเงิน 420 ล้านบาท (ปี 2566) ชายหาดบางแสน วงเงิน 440 ล้านบาท (ปี 2566) ส่วนทางบก มี 1 โครงการ คือ ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,361.36 ล้านบาท (ปี 2565-2567)
โครงการลงทุนต่อเนื่อง
ส่วนโครงการลงทุนต่อเนื่อง 13 โครงการวงเงินลงทุน 516,956 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการมอเตอร์เวย์ M 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้ว 2.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 3.โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ 4.โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 5.โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-ชุมพร 6.โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
7.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น 8.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี 9.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ 10.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 11.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 12.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 13.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง