“คุรุจิต” แนะรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ตามกรอบ MOU 44 เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด

ผู้ชมทั้งหมด 641 

พื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area : OCA) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญด้านพลังงานของไทย เนื่องจากเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้เป็นอย่างดี เพราะผลิตขึ้นมาใช้เองในประเทศ โดยปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเจรจากับทางฝ่ายกัมพูชาอีกครั้งหลังจากเคยได้ลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร หรือ MOU 2544 ในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หากมีการเจรจาเกิดขึ้นในรัฐบาลอุ๊งอิ๊งก็ต้องลุ้นว่าจะได้ข้อสรุปภายในรัฐบาลนี้ หรือไม่อย่างไร เพราะเริ่มมีกระแสคัดค้านเกิดขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะมีการเอื้อประโยชน์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตามสำหรับในเรื่องของการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์นั้น ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเจรจากับกัมพูชา เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA ซึ่งหากมีการพัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA จะช่วยชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งผลิตที่มีอยู่ปัจจุบันเริ่มลดลง

ทั้งนี้ความต้องการด้านพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นที่ประจักษ์มา 5 ปี แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไทยนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการนำเข้า LNG นั้นประเทศจะไม่ได้ค่าภาคหลวง และภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากย้อนดูสถิติในปี 2566 ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 33% เป็นการนำเข้า LNG  มีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการใช้ LNG แค่เพียง 5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มปตท. มีสถานีแอลเอ็นจี (LNG Terminal) รวม 2 แห่ง มีกำลังการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวทั้งสิ้น 19 ล้านตันต่อปี  และในพื้นที่โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะมีการสร้าง LNG Terminal ที่สามารถรองรับ LNG ได้ 7.5 ล้านตันต่อปี หากแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้รวม 26.5 ล้านตันต่อปี หรือเท่ากับ 3,780 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ​เทียบเท่า 87% ของความต้องการที่มีประมาณ​ 4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบัน    

ก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง ต้องเร่งหาแหล่งใหม่ เร่งเจรจา OCA

ขณะเดียวกันแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช มีปริมาณลดลงมากกว่าครึ่งผลิตได้อีก 15 ปี ในส่วนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาก็ลดลงด้วย จึงต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจนทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่าต้นทุนพลังงานมันสูญเสียไปโดยพลาดโอกาสจะหาแหล่งก๊าซใหม่ๆ ในประเทศ ทั้งในพื้นที่ OCA และนอกพื้นที่ OCA ซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่นอก OCA ไม่ว่าจะอยู่ในทะเลหรือบนบกประเทศไทยก็ควรจะทำแต่ก็ไม่มีความกล้าจะทำ ในพื้นที่ OCA นั้นเป็นแหล่งใหญ่ก็คาดว่าจะมีโอกาสเจอก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก ซึ่งเมื่อมีการผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA ก็สามารถเชื่อมต่อกับท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ห่างจากพื้นที่ OCA ประมาณ 50- 100 กิโลเมตรใช้ระยะเวลาในการลงทุนเชื่อมต่อ 5 เดือนก็แล้วเสร็จเอาเข้าท่อได้เลย

“ปัจจุบันไทยมีท่อก๊าซ 3 เส้น รองรับก๊าซฯ ได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันการผลิตก๊าซในอ่าวไทยยังไม่ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถ้านำเอามาใช้ก็จะทำให้ค่าผ่านท่อถูกลงด้วย ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านท่อของปตท.ก็มีสูตรในการคำนวณ ซึ่งตนเชื่อว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซฯ ในอ่าวไทย หรือแหล่งผลิตใหม่ๆ จะถูกกว่าการนำเข้า LNG ถ้าผลิตได้ในประเทศก็สามารถเก็บค่าภาคหลวง ค่าภาษีได้ แต่การนำเข้า LNG จะไม่ได้อะไรเลย”  

เจรจาพื้นที่ OCA รัฐบาลต้องหารือฝ่ายค้าน สว. นักวิชาการ องค์กรอิสระ

ดร.คุรุจิต กล่าวว่า การเจรจาต้องสร้างบรรยากาศให้ทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลกัมพูชามีความต้องการที่จะเจรจากัน แต่ถ้าไปสร้างบรรยากาศให้เกลียดกัน หวาดระแวงกันจะทำให้การเจรจาไม่สำเร็จ แต่โดยส่วนตัวแล้วตนสนับสนุนให้รัฐบาลนี้รีบดำเนินการเจรจา แต่ผ่านมา 2 เดือนแล้วยังไม่กลยุทธอะไรที่จะไปเจรจา ในขณะที่ประชาชนบางส่วน กลุ่มเอ็นจีโอ ก็เริ่มออกมาตั้งข้อสงสัยรัฐบาลและกังวลว่าจะไปเอื้อประโยชน์ส่วนบุคคล ดังนั้นรัฐบาลต้องพยายามแสดงเจตนารมณ์ว่าการเจรจากับกัมพูชาหาข้อสรุปพื้นที่ OCA นั้นตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเจรจารัฐบาลควรที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกรรมธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมทั้งไปขอความเห็นจากนักวิชาการ กลุ่ม เอ็นจีโอ ด้วย เพื่อลดความหวาดระแวง และสร้างความจริงใจว่าการเจรจาจะไม่เอื้อประโยชน์ใคร แต่การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่ฟังกลุ่มเอ็นจีโอแล้วต้องไปเจรจาตามแนวทางของกลุ่มเอ็นจีโอ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในนโยบายก็ต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่  

“ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็ไปหาบุคคลที่ 3 คือไปขึ้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กล้ามั้ย กัมพูชาเขารับอำนาจ แต่ประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลโลก คือตั้งแต่แพ้คดีเขาพระวิหารเราบอกว่าไม่รับอำนาจศาลโลก แล้วเรื่องท้าตีท้าต่อยเราเป็นประเทศใหญ่ทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าไปใช้กำลังทหารเขาก็อาจจะไปร้องเรียนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เราต้องมีวิธีการทางการฑูต ศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ แล้วก็รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน เพื่อสร้างพลังในการต่อรอง โดยให้คนในชาติมีความสามัคคีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญมากเพราะค้าไฟฟ้าแพง ราคาค่าก๊าซ LNG แพงก็ต้องนำเข้ามากขึ้น เมื่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้นก็เล่นแร่แปรธาตุหาวิธีลดค่าไฟด้วยวิธีแปลกๆ”  

ตั้งคณะกรรมการทางด้านเทคนิค ก.ต่างประเทศเป็นผู้นำเจรจา

ดร.คุรุจิต กล่าวว่า การดำเนินการเจรจานั้นผู้นำการเจรจาควรจะต้องเป็นกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) ขึ้นมาโดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ช่วย แต่ต้องมีกระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดูมิติเรื่องความมั่นคง ดูมิติเรื่องการทหาร กองทัพเรือดูมิติเรื่องแผนที่ทางทะเล ส่วนกลุ่มคนที่คัดค้านก็ต้องมีข้อมูลที่ดีพอต่อการคัดค้านไม่ใช่คัดค้านแบบมีอคติ เพราะไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็เลยไม่ไว้ใจแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกิน หากมีความหวาดระแวงกันก็ไม่ต้องทำใช่มั้ย ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน 52 ปี ยังไม่ได้ทำอะไรเลยยกเว้นกรอบ MOU 2544

การเจรจายึดตามกรอบ MOU 2544

สำหรับการเจรจาอยากให้รัฐบาลเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 เพราะเป็นกรอบที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นการแบ่งเขตเส้นแดนต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการเจรจาใช้ประโยชน์แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน ซึ่งหากดำเนินการไปพร้อมกันจะช่วยลดความหวาดระแวงว่าจะไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร ดังนั้นตนมองว่ากรอบ MOU 2544 เป็นกรอบที่ควรจะต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 นั้นตนมั่นใจว่าจะไม่ทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนเกาะกูด อย่างที่มีบางฝ่ายพยายามสร้างประเด็นขึ้นมา เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาไม่เคยอ้างกรรมสิทธิ์ในเกาะกูด และยอมรับอยู่แล้วว่า เกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการของไทยไปสร้างโรงแรมและรีสอร์ท จำนวนมากบริการนักท่องเที่ยว