“คุรุจิต นาครทรรพ” ย้ำ! พื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทย

ผู้ชมทั้งหมด 1,752 

พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทั้งไทย และกัมพูชามีการเจรจากันหลายรอบแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหลายคนก็ได้ออกมากระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพง และเพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีกำลังการผลิตลดลง ซึ่งยังเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคตอีกด้วย

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่ง​ประเทศไทย ​อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายในงานประชุมนานาชาติ The 17 th GMSARN International Conference  2022 โดยระบุว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy​Transition​)​ไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon​ Neutrality​ ในปี ค.ศ.2050 และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ  Zero Emissions​ ในปี ค.ศ. 2065 นั้นก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความสำคัญ เพราะปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำมัน และถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ดังนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานประเทศไทยคงไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ 100% เนื่องจากพลังานทดแทนยังไม่มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาตินอกจากปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่น้อยแล้วยังช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน และทำให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียร มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการนำก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังมีความแตกต่างด้านราคา เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งในอ่าวไทย และก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาในรูปแบบ LNG ซึ่งมีราคาที่สูง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าLNG ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งที่ดำเนินการผลิตอยู่ในปัจจุบัน

โดยต้นทุนราคา LNG  ตลาดจรหรือ  LNG Spot Prices  ที่ไทยต้องนำเข้าในปี 2565 มีราคาสูง โดยราคาเฉลี่ย JKM Spot LNG เดือนมิ.ย. 2565  อยู่ที่ 33.15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากอ่าวไทย อยู่ที่ประมาณ 5.51 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จนส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราค่าไฟฟ้าทำให้ไทยตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน Energy Supply 

ทั้งนี้จากราคา LNG ที่อยู่ในระดับสูงหากประเทศไทยต้องนำเข้า LNG แบบ Spot LNG 10 ล้านตันต่อปีจะส่งผลให้ไทยจะต้องจ่ายค่าส่วนต่างนำเข้า LNG สูงถึง 595,129 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 8 บาทต่อหน่วยเป็นอย่างน้อย หมายความว่าค่าไฟฟ้าตอนนี้ 4.72 บาทต่อหน่วยก็จจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.72 บาทต่อหน่อย

ดังนั้นการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศจึงมีความสำคัญ เนื่องจากว่าแหล่งที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันก็ผลิตได้น้อยลง ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ทับซ้อน OCA กับรัฐบาลกัมพูชา จึงควรเป็นนโยบายสำคัญของ​รัฐบาล ที่ผลักดันให้เกิดผลโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตต้องนำเข้า LNG มากขึ้น ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังการผลิตลดลง โดยระยะเวลาในการเจรจาคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในขบวนการเจรจาประมาณ 6-10 ปีถึงจะเริ่มขบวนการเข้าสำรวจพื้นที่ได้

สำหรับประโยชน์ที่จะได้ในการพัฒนาแหล่งพื้นที่ทับซ้อน OCA คือ เพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปริมาณสำรองอย่างน้อยคิดว่าไม่น้อยกว่า 50% จากปริมาณสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ช่วยยืดระยะเวลาแหล่งก๊าซออกไปได้อีก 15-20 ปี ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และก็ได้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับการนำเข้า LNG

“ที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างไทยมาเลเซียในแหล่ง JDA กว่าจะได้ข้อยุติต้องใช้เวลาถึง 11 ปี หลังจากนั้นถึงจะเริ่มสำรวจ ส่วนการเจรจาไทยกับเวียดนามเป็นการแบ่งเขตกันเลยก็ใช้เวลาถึง 6 ปีถึงจะได้เริ่มเข้าพื้นที่สำรวจ  เพราะฉะนั้น รัฐบาลไทยต้องเร่งและเริ่มดำเนินการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และการเจรจาก็ไม่ใช่ว่าไทยจะได้ทั้งหมด 100% หรือจะต้องเสียทั้งหมด 100% ก็ต้องใช้เวลา และต้องสร้างความเชื่อใจกัน ระหว่างทีมเจรจากับเพื่อนบ้าน ต้องมุ่งประโยชน์ของประเทศทั้ง 2 เป็นหลักถึงจะแก้ปัญหาได้

ส่วนรูปแบบหรือวิธีการแก้ไขปัญหานั้นก็ขึ้นอยู่กับทีมเจรจาและรัฐบาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ รูปแบบแรกให้แบ่งเขตกันแบบพื้นที่ทับซ้อนไทย – เวียดนาม รูปแบบที่ 2 ร่วมลงทุนด้วยกันแบบไทย-มาเลเซีย รูปแบบที่ 3 คือ ผสมผสานระหว่างรูปแบบที่ 1 กับ 2 อย่างไรก็ตามเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อน OCA ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร  ถ้าไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ ก็มีสถานะเหมือน No Man ‘s Land  ที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าไปสำรวจได้ จึงนับเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของทั้งกัมพูชา​และไทย

ด้าน ดร.สุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเจรจากับรัฐบาลกัมพูชากรณีพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา นั้นผู้นำรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีความเชื่อใจกัน โดยการเจรจาในรัฐบาลนี้คงไม่ทันต้องรอจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ควรจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งแนวทางการเจรจานั้นควรเน้นไปในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เหมือนไทย-มาเลเซีย จะมีโอกาสที่จะสำเร็จและได้ข้อยุติที่ดีกว่าการเจรจาเพื่อแบ่งเส้นเขตแดน

อย่างไรก็ตามหลังจากการเลือกตั้งในสมัยหน้าหากผู้นำประเทศไทยยังคงเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดิมก็ต้องดูว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะไว้เนื้อเชื่อใจหรือไม่ เพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเป็นข้าราชการประจำมาก่อน ซึ่งข้าราชการประจำส่วนใหญ่มีแนวคิดต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติให้ได้มากที่สุดอันนี้เป็นแนวความคิดของข้าราชการประจำเลยทำให้การเจรจาอาจจะเกิดขึ้นอยาก แต่หากการเจรจาสำเสร็จ แล้วเกิดการลงทุนสำรวจขุดเจาะผลิตก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตนเชื่อว่าราคาไฟฟ้าจะไม่สูง ถึง 12.72 อย่างแน่นอน