ผู้ชมทั้งหมด 553
“คีรี” ดันเปิดบริการโมโนเรลสีชมพูต่อขยายเข้าเมืองทองธานีปี 67 หลังลงนามในสัญญาร่วมทุนในนามนอร์ทเทิร์นบางกอกโมโนเรลกับบางกอกแลนด์วงเงิน 4 พันล้านบาท มั่นใจช่วยบริการประชาชนกว่า 10 ล้านคนต่อปีเดินทางสะดวกรถไม่ติด เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลากสี เชื่อกระตุ้นธุรกิจในพื้นที่โตเพิ่มอีก 10-20%
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ณ ห้องจูปิเตอร์ 12 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีพิธีลงนามเซ็นสัญญาใน“โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” โดยนายคีรี กาญจพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กับนายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (BLAND) โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วงเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท
นายคีรี กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายดังกล่าวเป็นโครงการโมโนเรลสายแรกของไทย แต่ไม่ใช่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรกๆ เพราะเมื่อ30 ปีที่แล้วบีทีเอสกรุ๊ปก็ทำก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาแล้วและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยสร้างเสร็จและเปิดใช้งานก่อนเวลากำหนด1เดือน แต่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูอาจจะช้าไปเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ล่าช้า แต่เชื่อว่าในต้นปี66 จะสามารถเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้แต่อาจจะยังไม่ใช่การเปิดบริการตลอดเส้นทางเท่านั้น เพราะด้วยเหตุผลหลายประการแต่ก็จะเริ่งดำเนินการอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามการลงนามในครั้งนี้นับเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่เมืองทองธานีมากกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความจำเป็นในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ซึ่งอีกไม่นานเกินรอจะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามาเมืองทองธานี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรแออัด และจะเป็นโครงข่ายสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่ให้เติบโตเพิ่มขึ้น10-20%
สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูนี้ ประกอบด้วย 2 สถานี ได้แก่ 1.สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี(ชาเลนเจอร์อาคาร1) และ2.สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งน่าจะเร็วกว่าสัญญาที่กำหนดไว้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องการเร่งรัดการเปิดบริการให้ใกล้เคียงกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลัก ช่วงแคราย – มีนบุรี ที่ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้วและจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2566
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบายถึง 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต ทั้งนี้บีทีเอสคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คนต่อเที่ยวต่อวัน
ด้านนายปีเตอร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมธุรกิจภายในพื้นที่เมืองทองธานี ทั้งศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค,โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้เติบโตขึ้นทั้งในด้านของปริมาณผู้ใช้บริการและรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 10-20% ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ ให้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงวางแผนในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นโครงการ Mixed Use เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย