ผู้ชมทั้งหมด 518
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1,800 ล้านบาท อุดหนุนส่วนต่างค่าไฟช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน พร้อมขยายเพดานตรึงราคาดีเซล ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตรึงราคาLPG ครัวเรือนอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 พ.ค.2567) ว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนที่จะสิ้นสุดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินราคา 33 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2. ราคาปลีกของก๊าซหุงต้ม (LPG) ตรึงอยู่ที่ระดับ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 3. ส่วนลดค่าไฟ 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มเปราะบางใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือนในงวดเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2567
โดยส่วนของงบประมาณที่ใช้ เป็นงบฯกลางจำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือการช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางกลุ่มใช้ไฟไม่เกิน 300 บาท ส่วนการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซLPG ใช้กลไกของกองทุนน้ำมัน
ทั้งนี้ ในส่วนของการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปก่อน หากไม่พอจึงค่อยมาดูงบกลาง พร้อมขอให้กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป
สำหรับฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 28 เมษายน 2567 ติดลบ 107,600 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 60,145 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 47,455 ล้านบาท
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของตนได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 – 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและได้รับการเห็นชอบในวันนี้ ถือว่า เป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามตนได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย