ผู้ชมทั้งหมด 234
“สุริยะ” แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า–ลุยจ้างเอกชนเดินรถ รับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปรับรูปแบบสัญญา สั่งสนข.เร่งศึกษาให้เสร็จใน 6 เดือน พร้อมเร่งหารือกระทรวงการคลัง จัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” นำงบประมาณมาดำเนินการ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารสอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน โดยในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมวางเป้าในการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ให้ปรับลดราคาค่าโดยสารลงเหลือในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ภายในปี 2568 เพราะเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น เหมือนสายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว
พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมยังเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษา ความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นแนวทางการซื้อคืนสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้นจะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถพร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถในส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน และเมื่อหมดสัญญาเดิมก็จะเปิดประมูลใหม่เพื่อหาจ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการประกวดราคาว่าจะเป็นเอกชนรายเดิมหรือรายใหม่
“แนวทางที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายได้อย่างเร็วที่สุด น่าจะเป็นในลักษณะการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้ากลับมาเป็นของภาครัฐฝ่ายเดียว เพื่อให้สามารถควบคุมราคาได้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถโดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ และเอกชนผู้รับสัมปทานเดิมไม่เดือดร้อน”นายสุริยะ กล่าว และว่า ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร ผมจะมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษา ความเป็นไปได้และความเหมาะสมให้แล้วเสร็จถายใน 6 เดือน ก่อนดำเนินการต่อไป
นายสุริยะ กล่าว ส่วนเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน และนำเงินมาเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่จะต้องปรับลดลง และช่วยแก้ปัญหาการจราจร ซึ่งถือเป็นมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นนั้น ส่วนตัวมองว่าในอนาคตมาตรการแบบนี้น่าจะมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ เมื่อในเมืองมีระบบรถไฟฟ้าครบลูปและไปมาสะดวก อาจต้องนำร่องใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์ในเขตพื้นที่ชั้นใน ที่มีรถไฟฟ้าให้บริการแล้ว เช่น บริเวณ ถนนสุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งตนจะมอบหมายให้ สนข.ไปศึกษา เรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศก็การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์ที่เข้ามาในเขตเมืองชั้นใน เช่นที่ ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งตนเคยไปศึกษาดูงานมาแล้ว