คมนาคม เดินหน้าลุยสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ไม่ต้องเวนคืนที่ดินบริเวณแยกพงษ์เพชร

ผู้ชมทั้งหมด 15,185 

คมนาคม เดินหน้าลุยสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไม่ต้องเวนคืนที่ดินบริเวณแยกพงษ์เพชร 96 ครัวเรือน ช่วยรัฐลดงบประมาณกว่า 1,250 ล้านบาท ชี้มีจุดตัดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 7 สายทาง สร้างเสร็จคาดมีผู้โดยสารกว่า 2 แสนคนเที่ยวต่อวัน

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาแนวทางลดผลกระทบการจราจรจากการดำเนินการในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (ช่วง แยกแคราย-เกษตรนวมินทร์-แยกลำสาลี) ระยะทาง 22.1 กม. นั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณแยกพงษ์เพชรนั้นทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะไม่เวนคืนที่ดินจากประชาชนเพื่อสร้างสถานี และ แนวเขตทาง ผิวจราจจร ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 96 ครัวเรือน บริเวรณดังกล่าวไม่ต้องถูกเวนคืน และทำให้กระทรวงคมนาคม รฟม. ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 1,250 ล้านบาทมาเวนคืนที่ดิน

ส่วนประเด็นรูปแบบการก่อสร้างที่มีโครงการทับซ้อนกันในโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีแนวก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางด่วนสายเหนือขั้นที่ 1 หรือ N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่รูปแบบก่อสร้างจะเป็นการขุดอุโมงค์ กับรฟม. นั้นทางกทพ.และรฟม. ตกลงร่วมกันว่าจะบูรณาการร่วมกันในการก่อสร้างลงเสาเข็มกลุ่มพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการจราจร ส่วนช่วงบริเวณจุดแยกเกษตรนวมินทร์-ลาดปลาเค้า ซึ่งเป็นจุด N1 ที่พ้นการลอดอุโมงค์มาชนช่วงก่อสร้าง เชื่อมต่อกับ N2 และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ให้มีการปรับแบบการเชื่อมต่อ ให้กระทบการก่อสร้างสายสีน้ำตาลให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้นเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เป็นรถไฟฟ้าที่มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 7 สายทางใน 5 จุดหลักประกอบด้วยเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีชมพู ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และยังเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีบางเขนส่วนแนวเส้นทางบนถนนเกษตรนวมินทร์ก็จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานีแยกเกษตร และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่สถานีต่างระดับฉลองรัช และเมื่อเดินทางมาสิ้นสุดเส้นทางที่แยกลำสาลียังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอีกด้วย ทั้งนี้ในเบื้องต้นการประเมินผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้เส้นทางนี้คาดว่าจะมีประมาณ 218,547 คน-เที่ยว/วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ตลอดระยะทาง 22.1 กม. นั้นจะเป็นโครงสร้างยกระดับจำนวน 20 สถานี มีรูปแบบสถานีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงการ คือ สถานีที่ตั้งอยู่โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางพิเศษฯ โดยจะเป็นสถานีรูปแบบชานชาลาข้าง (Side Platform) หรือรูปแบบชานชาลากลาง (Centre Platform) และสถานีที่ตั้งอยู่ใต้โครงสร้างทางพิเศษฯ โดยมีทางวิ่งของรถไฟฟ้าขนาบข้างเสาทางพิเศษฯ ซึ่งจะเป็นสถานีรูปแบบชานชาลาข้าง (Side Platform) เท่านั้น