ผู้ชมทั้งหมด 468
“คมนาคม” ชงของบกลาง 140 ล้านบาทมอบหน้าที่ให้ ทล. ศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 3 รถไฟทางคู่ โครงข่ายทางถนน สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 “หนองคาย-เวียงจันทน์” รองรับขนส่งสินค้าไทย-ลาว-จีน คาดใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ และเกิดความสะดวก สบายในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการศึกษาออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร ควบคู่กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายทางถนน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2)
ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ดำเนินการดำเนินการศึกษาออกแบบก่อสร้าง เนื่องจาก ทล. มีประสบการณ์การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 6 แห่ง อย่างไรก็ตามการดำเนินการศึกษาออกแบบนั้นนายกรัฐมนตรีได้ให้ของบกลางมาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 140 ล้านบาทในการศึกษาออกแบบก่อสร้าง
สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 3 ที่จะดำเนินการลงทุนควบคู่กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายทางถนน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 นั้นในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เกิดความสะดวก สบายในการขนส่งสินค้า และการเดินทางของประชาชน ซึ่งการสัญจรไม่ต้องหลบหลีกหรือติดขัดเพราะมีเส้นทางแยกกัน
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างจะลงทุนคนละครึ่งระหว่างไทย-สปป.ลาว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว เร็วๆ นี้ จะเจรจาเพื่อให้ สปป.ลาว สร้างโครงข่ายทางถนน มารองรับการเชื่อมต่อกับสะพานแห่งนี้ด้วย โดยสะพานแห่งนี้ต้องแล้วเสร็จก่อนรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2571
ขณะเดียวกันโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั้นตนก็ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานก่อสร้างโครง เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้นำบทเรียนจากเฟสที่ 1 โดยเฉพาะปัญหาการออกแบบมาใช้กับการก่อสร้างเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ด้วย ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางปี 2565 และเปิดการประกวดราคาได้ภายในปีนี้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การดำเนินการศึกษาออกแบบนั้นจะต้องดำเนินการร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางราง อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์หน้า ทล. จะเสนอเรื่องขอใช้งบกลาง วงเงิน 140 ล้านบาทในการศึกษาสำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 3 ที่จะดำเนินการลงทุนควบคู่กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายทางถนน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 มายังกระทรวงคมนาคม และคาดว่าน่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้หลังจากได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้วคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาสำรวจออกแบบประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2566 ทั้งนี้ในระหว่างการศึกษาจะเชิญทางสปป. ลาว และจีน เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการจ้างศึกษาออกแบบนั้นไทยก็พร้อมที่จะลงทุนฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามสำหรับสะพานแห่งใหม่นี้จะอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 50 เมตร
นอกจากจะศึกษารูปแบบการก่อสร้างสะพานที่จะมีทั้งรางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ขนาด 1.435 เมตร รถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และถนนแล้ว ยังต้องศึกษาระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ ระบบเก็บค่าผ่านแดน ระบบความปลอดภัย และโครงข่ายถนนปลายสะพานฝั่งไทยด้วยว่าจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นหลักใดบ้าง ขณะที่ฝั่งสปป.ลาว ก็ต้องมีถนนรองรับด้วย โดยขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าปลายทางจะสิ้นสุดที่จุดใดของฝั่งเวียงจันทน์ ซึ่งก็ต้องรอดูผลศึกษาก่อน