คมนาคม พร้อมรับมือนโยบายวีซ่าฟรี เพิ่ม Slot การบินฤดูหนาว 15% ต่อสัปดาห์

ผู้ชมทั้งหมด 1,246 

คมนาคม พร้อมรับมือนโยบายวีซ่าฟรี เพิ่ม Slot การบินฤดูหนาว 15% ต่อสัปดาห์ รองรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอีก 5 ล้านคน เดินหน้าขยายสนามบิน พร้อมปรับปรุงพื้นที่เพิ่มจุดเชคอิน ตรวจค้นตม.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 นั้นโดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งดูแลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก สบาย เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังประเทศไทย 

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ 3 ระยะ คือ 1. นโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี ดำเนินการเพิ่ม Slot การบิน และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดัน เศรษฐกิจ มอบให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, (กพท.)  ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการจัด Slot การบินสำหรับตารางบินฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงตารางบินฤดูร้อนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบายวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้  

รวมทั้งมอบหมายให้ ทอท.ดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร (Capacity) โดยการปรับปรุง พื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพิ่มจุดเชคอิน ตรวจค้น ตม. การใช้มาตรการจูงใจให้ผู้โดยสารใช้ระบบเชคอินด้วยตนเอง รวมถึงการปรับการให้บริการ ได้แก่การเปิดให้บริการเชคอินสำหรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ และการพิจารณา เปิดให้บริการท่าอากาศยานที่ เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความแออัด ของผู้โดยสารและรองรับการเดินทาง

2. นโยบายระยะกลาง 1-3 ปี ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกท่าอากาศยานในปัจจุบัน สามารถรองรับเที่ยวบินได้เต็มประสิทธิภาพของ Runway เช่น การก่อสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออก ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ ที่ท่าอากาศยานดอน เมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของท่าอากาศยานของ AOT ทั้งหมดสามารถ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี  

สำหรับระยะยาว 5-7 ปี ให้ดำเนินการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของ การท่องเที่ยวแต่สนามบินในปัจจุบันมีข้อจำกัดด้าน Runway ทำให้เพิ่มศักยภาพไม่ได้ ซึ่งได้แก่ท่าอากาศ ยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศนานาชาติอันดามัน ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพ ในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 50 ล้านคนต่อปี ขณะที่การโอนการบริหารจัดการท่าอากาศยานที่ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมมี นโยบายในการถ่ายโอนท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ทอท. เข้าดำเนินการ แทน เช่น สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ รวมถึงพิจารณาท่าอากาศยานระดับภูมิภาคอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ประชาชนผู้เดินทางได้รับประโยชน์สูงสุด  

นอกจากนี้ในด้านนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ทั้ง ทอท. และกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบ Solar Cell ใน พื้นที่ท่าอากาศยานที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดให้รถบริการในเขตท่าอากาศยาน เป็นยานยนต์ที่ใช้พลังงาน ไฟฟ้า และมอบหมายให้ กพท. ทอท. และทย. ไปศึกษาและกำหนดมาตรการเรื่องการใช้น้ำมัน อากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินสากลที่กำหนดโดย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO