คมนาคม ผนึกกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 บริษัท พัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค 

ผู้ชมทั้งหมด 998 

คมนาคม จับมือกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 บริษัท ลงนาม MOU ผนึกกำลังร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ H.E. Mr.Thierry Mathou เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นประธานและสักขีพยานร่วม ในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค” ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธี ในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ให้เป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้เดินหน้าไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม โดยบูรณาการแผนงาน โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพบริการเทียบเท่ามาตรฐานสากล เชื่อมโยงการเดินทางขนส่งสินค้าจากตะวันตกถึงตะวันออก และเหนือสู่ใต้ รองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคอาเซียน

พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ครอบคลุมทุกมิติ จึงได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมรับรองมาตรฐาน ระบบการทดสอบ และประเมินคุณภาพระบบราง รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค  ตลอดจนพัฒนาบุคลากร และจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบราง โดยเริ่มต้นจากการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือปฏิญญาไทย – ฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยได้ลงนามปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท ประกอบด้วย

1. บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และมีระบบการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน

2. บริษัท อัลสตอม ผู้นำด้านการคมนาคมขนส่ง ด้วยระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. บริษัท วอสส์โลห์ โคจิเฟอร์ เอส.เอ ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบราง ทั้งส่วนประกอบหลัก การปรับแต่งโมดูล และการดูแลรักษา

4. บริษัท ซิสตร้า เอ็ม วี เอ (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มวิศวกรรมและที่ปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านคมนาคมและการขนส่งระดับโลก ครอบคลุมงานก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม การออกแบบสถานี   และระบบตั๋วโดยสาร 5. บริษัท โพมา เอสเอเอส ผู้เชี่ยวชาญการผลิตกระเช้าลอยฟ้า และให้บริการระบบขนส่งทั้งในเมือง พื้นที่ในหุบเขา พื้นที่ท่องเที่ยว และระบบการขนส่งในโรงงาน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1) การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง หรือ Rail Academy ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2) การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศสและภาคเอกชนของไทยเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของ กระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในเวทีโลก

3) การวิจัยและพัฒนาร่วมกันและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางขั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศสและเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค ซึ่งกระทรวงคมนาคม เชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้ได้แบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างนวัตกรรม ขีดความสามารถ โอกาสทางธุรกิจ และความร่วมมือ ที่เป็นคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยและฝรั่งเศส รวมไปถึงการร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระดับอาเซียน ภูมิภาค และนานาชาติไปด้วยกัน

การผนึกกำลังครั้งนี้ ถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ให้ก้าวไกลบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน