ผู้ชมทั้งหมด 724
คมนาคม ปี 65 อัดฉีดเม็ด 1.4 ล้านล้าน ลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ คาดก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม” ว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมจะเดินหน้าโครงการในครึ่งปีหลัง 2565 ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น
โดยรูปแบบ MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ตามแผนประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน ซึ่งโครงการ Land Bridge ชุมพร – ระนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนโครงการ และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573
ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่าง ๆ ที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมดแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศได้ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากแผนการการลงทุนด้านคมนาคม สามารถแบ่งการพิจารณาได้เป็น 4 มิติ ประกอบด้วย 1. มิติด้านความสะดวก เพิ่มความเร็วในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงรถติดเป็น 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
2. มิติด้านเวลา โครงการรถไฟทางคู่แก้ปัญหารถไฟรอหลีกและจุดตัดถนน ทำให้ความเร็วในการขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3. มิติด้านราคา โครงการรถไฟทางคู่สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 4 เท่าตัว โครงการท่าเรือแหลมฉบัง การขนส่งทางน้ำลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 8 เท่าตัว
4. มิติด้านความปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการ RFB ซึ่งใช้ยางพาราหุ้มแท่งคอนกรีตจะสามารถลดความเสียหายและแก้ปัญหาการชนต่างทิศทางบนถนนที่เป็นเกาะสี โครงการ Motorway ซึ่งเป็นระบบปิดและไม่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์มาใช้งานจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถที่ใช้ความเร็วต่างกันได้
ทั้งนี้โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟสามารถรองรับการเดินทางของคนได้มากกว่าและโอกาสการเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางอากาศเป็นศูนย์
นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์จากแผนลงทุนด้านคมนาคมแล้ว ในส่วนภาพรวมของประเทศจะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท
ด้วยวงเงินการลงทุนที่สูงนี้ มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักรและยานพาหนะะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรปจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละโครงการตนกับบุคลากรทุกคนในกระทรวงคมนาคมได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานเป็น Action Plan ไว้แล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แผนในการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด
อย่างไรก็ตามแผนการลงทุนโครงสร้าง เพื่อวางโครงข่ายคมนาคมของประเทศทั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคมได้วางไว้เป็นแผนกลยุทธ์ 20 ปี และเมื่อนำมาต่อเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแนวทางของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากทั้งหมดเกิดขึ้นได้ครบวงจร เราจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากวันนี้อย่างแน่นอน