ผู้ชมทั้งหมด 3,141
“คมนาคม” เดินหน้าปิดช่องโหว่ทุจริตส่วยรถบรรทุก สั่ง ทล.-ทช. เร่งจัดหา Body Camera ติดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ ลดโอกาสการเกิดทุจริตจากคน พร้อมประสานขบ.บูรณาการข้อมูล จีพีเอส รถบรรทุกป้องกันการกระทำผิด
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตำรวจทางหลวงเข้าร่วมว่า ที่ประชุมได้รับรายงานผลจากคณะทำงานที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347
จ. พระนครศรีอยุธยาว่าการดำเนินงานของด่านชั่งน้ำหนักถาวรส่วนใหญ่เป็นด่านอิเล็กทรอนิกส์ มีโอกาสเกิดการทุจริตค่อนข้างน้อยมาก แต่ก็ยังพบช่องโหว่จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบและจับกุม ซึ่งเรื่องนี้ ทล.อยู่ระหว่างดำเนินการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดการตัดสินใจของคน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดทุจริตมากที่สุด
นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการทำงานของด่านตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ของ ทล. และ ทช. บนถนนสายรอง ซึ่งใช้คนเป็นผู้ทำการตรวจสอบและใช้มือถือบันทึกภาพได้จึงมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงขอให้ทล.และทช.ไปพิจารณาทบทวนการดำเนินงานของด่าน Spot Check ว่าจะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใสและลดโอกาสในการเกิดทุจริตได้ โดยเบื้องต้นทล.และทช.จะพิจารณาจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ (Body Camera ) มาใช้ที่ด่าน Spot Check ซึ่งกล้องจะทำงานแบบออนไลน์สามารถเชื่อมข้อมูลการตรวจจับมายังศูนย์ข้อมูลส่วนกลางแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อให้การทำงานที่ด่าน Spot Check มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น
นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการหาข้อมูลบุคลากรที่กระทำความผิดนั้น ได้รับทราบว่า ทล.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานขอข้อมูลกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และทำการพิจารณาตรวจสอบว่ามีบุคลการเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ที่ประชุมขอให้ทล.และทช.รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้คณะกรรมการในการประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 20 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตามในส่วนเรื่องของบทลงโทษเจ้าหน้าที่นั้น หากตรวจสอบพบว่ามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทุจริต เบื้องต้นจะถูกลงโทษทางวินัยตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออก และรองลงมาคือปลดออก ทัณฑ์บน และตักเตือนตามลำดับ รวมถึงยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่งด้วย
ด้านนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดี ทล. กล่าวว่า ทล. ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด โดยชุดที่ 1 เพื่อพิจารณาเรื่องบุคลากร หรือผู้กระทำผิด ซึ่งหลังจากนี้จะเชิญสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลรายชื่อข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนคณะทำงานชุดที่ 2 จะพิจารณาเรื่องของด่านชั่งน้ำหนัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะบูรณาการขอข้อมูลระบบจีพีเอสของรถบรรทุกจาก ขบ. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างการลงนามบันทึกข้อตกลกร่วมกัน (MOU) กับ ขบ. เพื่อให้ได้ข้อมูลรถบรรทุกแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการทุจริตกรณีบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด และรถบรรทุกฝ่าด่านตรวจสอบน้ำหนักได้
นายจิระพงศ์ กล่าวอีกว่า ทล.จะเร่งดำเนินการจัดหา Body Camera มาใช้ที่ด่านตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณในส่วนที่เป็นรายได้จากการจับปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในส่วนของงบดำเนินงานมาใช้จัดซื้อ Body Camera เพื่อนำมาใช้งานที่ด่านชั่งน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ ด่านละ 14 ตัว เพื่อจะช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดโอกาสในกาทุจริตของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีข้อมูลการจับกุมและปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินคิดเป็นเงินรวมประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 20% หรือประมาณ 2 ล้านบาทนำเข้าหลวง อีก 20% ประมาณ 2 ล้านบาทนำมาใช้เป็นงบดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ใช้ในการทำงาน และอีก 60% หรือประมาณ 6 ล้านบาท เป็นรางวัลนำจับสำหรับเจ้าหน้าที่