ผู้ชมทั้งหมด 6,046
“คมนาคม” ชงนายกรัฐมนตรีเคาะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเมืองภูเก็ต 1.48 แสนล้านบาท เชื่อมระบบขนส่งมวลชน รองรับนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายวีซ่าฟรี ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ บก-น้ำ-ราง-อากาศ
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการและข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตวันที่ 29 ก.ย.นี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม ว่า ตามที่นายเศรษฐา มีนโยบายวีซ่าฟรี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมทางถนน น้ำ ราง และอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวทางเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม เตรียมนำเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาแผนการลงทุนโครงสร้างพืนฐานเร่งด่วน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้าน ดังนี้ 1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา – บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท
3.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท 5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ – ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท 6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท และ 7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงิน 80,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี โครงการลงทุนเร่งด่วน ที่มอบหมายให้หน่วยงานเร่งรัดขอจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อเริ่มนำร่องประมูลโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี น่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต และยังกำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น – ท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กิโลเมตร(กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ
รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมือง สายท่าอากาศยานภูเก็ต – ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กม. เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบราง มีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดภูเก็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป