คมนาคม-คลัง เล็งเก็บค่าธรรมเนียมรถติด 50 บาทต่อคัน ระดมทุนซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า 2 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 78 

“สุริยะ” เปิดแนวทางซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า 2 แสนล้าน ลุยจัดตั้งกองทุน ระดมเงินจากนักลงทุน เก็บค่าธรรมเนียมรถติดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน สุขุมวิท-สีลม-รัชดาภิเษก 50 บาทต่อคัน อุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายว่า ขณะนี้ได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อทำการศึกษารูปแบบรายละเอียดที่เหมาะสมในการจัดตั้งกองทุน เพื่อนำเงินมาดำเนินการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าสายต่างๆ  โดยคาดว่าจะได้ข้อสรูปที่ชัดเจนไม่เกินกลางปี 2568

โดยเบื้องต้นเงินกองทุนจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1.การเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge)ในพื้นที่เขตเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เช่น บริเวณถนนสุขุมวิท  ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน เช่น หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในอัตรา 50 บาทต่อคัน ก็น่าจะมีรายได้เข้ากองทุนปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในอีก 5 ปีถัดไปก็อาจจะเพิ่มค่าธรรมเนียมเป็น 80 บาทต่อคัน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกาในการออกกฎหมายรับรองในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในเขตพื้นที่ กทม.ด้วย ซึ่งในส่วนของกทม.เองก็มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้แต่ยังไม่เคยใช้ดำเนินการ และ 2.การระดมทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป ซึ่งรายได้ทั้ง 2 ส่วนนี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทั้งหมดทุกสายประมาณ 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กระทรวงการคลังยังไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าได้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็อาจจะจัดตั้งกองทุน เพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยส่วนต่างรายได้ที่หายไปจากการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย โดยเงินกองทุนจะมาจากส่วนแบ่งรายได้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมาจากสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณภภาครัฐ โดยในส่วนของกองทุนนี้สามารทำได้หลังจาก พ.ร.บ.กรมขนส่งทางราง พ.ศ…. และ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ….  มีผลบังคับใช้ ซึ่งพ.ร.บ.กรมขนส่งทางรางฯขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ขณะที่นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ที่ใช้กับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสายสีม่วงนั้นจะสิ้นสุดสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมจะนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อขยาย ระยะเวลาดำเนินนโยบายออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด