คมนาคม ครบรอบ 113 ปี “สุริยะ”ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน บก ราง น้ำ อากาศ

ผู้ชมทั้งหมด 229 

คมนาคม ครบรอบ 113 ปี “สุริยะ” ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน บก ราง น้ำ อากาศ เร่งดันภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ – ป่าตอง จัดหารถประจำทาง EV ขับเคลื่อนนรถไฟฟ้า 20 บาท ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการบิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 113 ปี โดยมี นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมในพิธีฯ ในวันที่ 1 เมษายน 2568 ณ กระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคมก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อ “กระทรวงโยธาธิการ” เป็น “กระทรวงคมนาคม” จนปัจจุบันวันที่ 1 เมษายน 2567 ครบรอบ 113 ปี กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าภารกิจเพื่อพัฒนาการคมนาคม จากพันธกิจในอดีต คือ การดูแลคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางราง และไปรษณีย์โทรเลข วิวัฒนาการสู่การพัฒนาการคมนาคมขนส่งของประเทศในทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ

โดยมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า รวมถึงพัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ เพื่อสร้างโอกาสและอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศผ่านการพัฒนาโครงการสำคัญด้านต่าง ๆ ดังนี้

การพัฒนาการขนส่งทางถนน อาทิ การแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา) โครงการก่อสร้างทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ – ป่าตอง และโครงการก่อสร้างจุดพักรถคลองหลวงบนมอเตอร์เวย์สาย 9

การพัฒนาการขนส่งทางบก เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ สะดวกสบาย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) จัดหารถประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) และการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

การพัฒนาการขนส่งระบบราง เร่งรัดพัฒนาโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศทั้งรถไฟทางคู่และเส้นทางใหม่ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนและลดต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง และระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดเส้นทาง

การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำด้วยการเปิดประตูการค้าทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี พายัพ บางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าเตียน สาทร และพระราม 7

การพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางอากาศของประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic Border Control) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต จัดทำแนวทางการเพิ่ม Capacity ห้วงอากาศให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต รวมถึงการขยายท่าอากาศยานชุมพร เป็นต้น

กระทรวงคมนาคมพร้อมพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งในทุกมิติรองรับการเดินทางของพี่น้องประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกด้วยการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การเชื่อมต่อที่ง่ายและรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”