ผู้ชมทั้งหมด 283
“คมนาคม” กางแผนพัฒนาสนามบิน 5 ปี เร่งทอท.ขยายสนามบินสุวรรณภูมิ คาดใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้าน หวังดันติดท็อป 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดของโลก เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยพลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ AOT และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้เยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ และประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันกับ นายยัม คัม เวง (Mr. Yam Kum Weng ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้บริหารระดับสูงของ Changi Airport Group (CAG) เพื่อศึกษารูปแบบการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ดำเนินงานภายในสนามบิน และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาสนามบินของไทย เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้วางเป้าหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรก ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี โดยจะเร่งดำเนินการทั้งหมด 3 ระยะ โดยในระยะเร่งด่วนนั้นได้สั่งการให้เพิ่มความสะดวกสบายควบคู่ไปกับการลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน AOT ได้ยกระดับคุณภาพการบริการและเพิ่มความรวดเร็วในหลากหลายด้าน อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสารตั้งแต่จุดตรวจคนเข้าเมือง ระบบรับกระเป๋า ไปจนถึงการเปิดใช้ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) รวมถึงการนำระบบไบโอเมตริกพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (biometric) มาใช้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร ขณะที่ระยะกลางจะเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศ และระยะยาว มุ่งเน้นการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้เตรียมแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบิน โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพ ต้องมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคน/ปี และไปสู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีสุดในโลก ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีแผนจะขยายโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) กรอบวงเงินลงทุนราว 9,000 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 15 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) คาดกรอบวงเงินลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร มีขนาด 2 แสนตารางเมตร เมื่อนำมารวมกับขีดความสามารถในปัจจุบันจะทำให้ ทสภ.รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างแผนพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ AOT พัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคและติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจ หนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มอีก 120 จุดในอนาคต โดยมีเป้าหมายจะเปิดใช้ระบบ Autogate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงีที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาที/คน จากเดิมที่ 30-40 นาที/คนอย่างไรก็ตาม AOT ได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
นอกจากนี้ยังได้เตรียมเปิดให้บริการพื้นที่พักผ่อนใหม่ภายใน ทสภ.โดยเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอยและ Co-working Space ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2567 รวมถึงสนามเด็กเล่นมีกำหนดแล้วเสร็จช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้ที่ผ่านมาAOTได้หารือร่วมกับท่าอากาศยานชางงีที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว
นายกีรติ ยังกล่าวถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียวว่า ขณะนี้ได้หารือถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียว (Green Airport) ร่วมกับท่าอากาศยานชางงี ซึ่งมีแผนจะร่วมมือกันในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับทางการบินยุโรปที่กำหนดให้ท่าอากาศยานทั่วโลกต้องมีเชื้อเพลิง SAF ให้บริการเติมอากาศยานภายใน 3 ปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอเชียและประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF
ขณะเดียวกันยังได้หารือกันถึงเรื่องแผนการใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ภายในท่าอากาศยาน ซึ่ง ทอท. ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีจะลดการใช้พลังงานช่วงกลางวันเป็นศูนย์ (Day time energy) โดยปัจจุบัน ทสภ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับท่าอากาศยานชางงีซึ่งอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์