ผู้ชมทั้งหมด 697
คมนาคม เร่งสานฝันลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ หวังช่วยหนุนไทยเป็นฮับขนส่ง คาดเสนอแผนเข้าครม.ได้กลางปี 65 ด้านสนข. แย้มปลายปีนี้เริ่มเห็นความชัดเจนกรอบการลงทุน ดึงกระทรวงพลังงานศึกษาลงทุนท่อส่งน้ำมัน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์นั้นเป็นโครงการในแผนงานปี 2564 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องเดินหน้า หลังได้ที่ปรึกษาแล้ว โดยในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่หร่างดำเนินการศึกษาแผนการลงทุน โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จกลางปี 2565 ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปผลศึกษา เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการเปิดประมูลให้ได้ภายในปี 2565 โดยช่วงระหว่างดำเนินการศึกษานั้นจะดำเนินการควบคู่ขนานไปกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติร่วมลงทุน PPP เหมือนโครงการใน EEC
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 100,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าเรือฝั่งจ.ระนอง และฝั่งจ.ชุมพร การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงจะมีการสร้างท่อส่งน้ำมันด้วย โดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเดินทางขนส่งของอาเซียน ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และการขนอาเซียน
“โครงการแลนด์บริดจ์จากผลศึกษาของกระทรวงคมนาคมไม่จำเป็นต้องขุดคลองเพื่อเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเพราะใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยการลงทุนในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแลนด์บริดจ์ โดยแต่ละฝั่งทะเลจะมีท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมต่อผ่าน MR-Map หรือการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ โดยเลือกใช้เส้นทางที่มีระยะสั้นสุด เพื่อผลักดันให้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ของภูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่ต้องใช้ช่องแคบมะละกา สำหรับการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติงบศึกษาโครงการแล้ว ปีหน้าจะได้เห็นภาพรวมของแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นอย่างไร”
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ในขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกตำแหน่งท่าเรือทั้งฝั่งจ.ระนอง และฝั่ง จ.ชุมพร ซึ่งต้องเลือกช่วงที่แคบที่สุด และต้องดูดูความเหมาะสมของพื้นที่ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อีกรอบ โดยจะดำเนินการควบคู่กับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
ขณะเดียวกันทางที่ปรึกษาโครงการก็อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจากับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องว่ามีความต้องการอะไร ปัญหา อุปสรรคเป็นอย่างไร ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แนวเส้นทางที่จะพัฒนา และต้องไปศึกษารายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากรด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการพิจารณากำหนดกรอบการลงทุน และกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการ ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้จะมีความชัดเจนเรื่องกรอบการลงทุน ทราบตำแหน่งท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และแนวเส้นทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตามการศึกษาแผนการลงทุนทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณกลางปีหน้า