ขร.เตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางราง

ผู้ชมทั้งหมด 1,016 

ขร.เตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัลและการกำกับดูแลให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ดำเนินโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล กรมการขนส่งทางรางจึงได้ศึกษารูปแบบการกำกับดูแลระบบรางของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ และเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทย โดยหนึ่งในกรณีการศึกษาระบบขนส่งทางรางของไต้หวัน พบว่าไต้หวันได้มีการแบ่งประเภทหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น  2 ประเภท ประกอบด้วย

1. ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง ซึ่งมีผู้ให้บริการสองรายประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง (TRA) และรถไฟความเร็วสูง (THSR) ซึ่งมีการกำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน) โดยในไต้หวัน เจ้าหน้าที่ขับรถไฟ จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปี สำหรับรถไฟระหว่างเมือง และ 8 เดือน สำหรับรถไฟความเร็วสูง จากนั้นจึงเข้ารับการทดสอบข้อเขียนและภาคปฏิบัติจาก Railway Bureau เพื่อขอรับใบอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปีและทบทวนความรู้อย่างน้อย1ครั้งใน 3 ปีและต้องสอบใหม่หากใบอนุญาตหมดอายุมากกว่า 6 เดือน ในส่วนของการบำรุงรักษารถขนส่งทางราง ผู้ให้บริการเมื่อสั่งซื้อรถมาแล้วจะมีการขออนุมัติแผนการบำรุงรักษาจาก Railway Bureau และ Railway Bureau จะมีการสุ่มตรวจสอบการบำรุงรักษารถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

 2. ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าในเมืองมีผู้ให้บริการขนส่งทางราง 5 ราย โดยในเมืองไทเปมีผู้ให้บริการจำนวน 1 ราย คือ Taipei Rapid Transit corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ดูแลเรื่องการให้บริการของรถไฟฟ้าในไทเป โดยก่อนจะประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล และบุคลากรที่ปฎิบัติงานในศูนย์ควบคุมการเดินรถหรือพนักงานขับรถจะต้องได้รับการฝึกอบรม และการทดสอบก่อนการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับรถไฟระหว่างเมือง

นอกจากนี้ ไต้หวันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินรถ เช่น การติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับปริมาณของผู้โดยสารภายในขบวนรถและแสดงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึงร้อยละ 99.99 และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95

ทั้งนี้ โครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) จะทำการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในระบบรางและระบบกำกับดูแลเพื่อนำมาประกอบการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา เทียบเท่ามาตรฐานของสากล