ขบ. ยกเสาเอกก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจ.นครพนม กำหนดเปิดบริการปี 68  

ผู้ชมทั้งหมด 18,693 

ขบ. ยกเสาเอกก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจ.นครพนม จับมือภาครัฐ-ภาคเอกชน ผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ในภูมิภาค กำหนดเปิดบริการปี 68 รัฐมีรายได้ค่าสัมปทาน 298 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ณ พื้นที่ก่อสร้างโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานในงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การเริ่มก่อสร้างโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ให้กับประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินโครงการ โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครพนม บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด (ผู้ร่วมลงทุน) ประชาชน สื่อมวลชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ได้จัดงานแถลงข่าวสร้างการรับรู้ การเริ่มก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ให้กับประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินโครงการ พร้อมถือฤกษ์ประกอบพิธียกเสาเอกอาคารสำนักงานกลาง (Main Office) เพื่อความเป็นสิริมงคล ภายหลังจากได้ว่าจ้างบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐ รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ วงเงินงบประมาณกว่า 624 ล้านบาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน (PPP) มาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

พร้อมมีการว่าจ้าง กิจการร่วมค้า เอสเอส กรุ๊ป เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันผู้รับจ้างได้ดำเนินการปรับระดับพื้นที่ก่อสร้างภายในโครงการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างก่อสร้างระบบระบายน้ำ งานถนนและลานคอนกรีตเสริมเหล็ก และงานฐานรากอาคารต่าง ๆ ภายในโครงการ โดยมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้างกว่า 13% (เร็วกว่าแผนงานประมาณ 4%) งานก่อสร้างสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี และยังไม่พบปัญหาอุปสรรคใด ๆ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกมีแผนที่จะส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด ในฐานะผู้ร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมไปดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ภาคเอกชนรับผิดชอบในช่วงเดือนกันยายน 2566 นี้

โดยตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน (PPP) บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ อาทิ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า อาคารคลังสินค้า และอาคารซ่อมบำรุง รวมถึงการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น Gantry Crane และงานระบบต่าง ๆ โดยมีมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนรวมกว่า 317 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 พร้อมกันทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนรับผิดชอบ

สำหรับศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ บนเส้นทางสาย R12 ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญและมีศักยภาพสูง สามารถเชื่อมต่อการขนส่งจากจังหวัดนครพนมของประเทศไทย ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว ประเทศเวียดนาม และทางตอนใต้ของประเทศจีน แถบเมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

ภายในศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ได้ถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ไว้อย่างครบครัน เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า และเป็นจุด One Stop Service ซึ่งสามารถรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานตรวจปล่อยสินค้า (Customs, Immigrations & Quarantines : CIQ) ทำให้สามารถตรวจปล่อยสินค้าได้อย่างเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และยังสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน หรือ Common Control Area (CCA) รองรับการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ยังถูกออกแบบให้รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางรางได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านแนวโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างกระบวนการเวนคืนที่ดิน ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนส่งไทย และช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อีกทางหนึ่ง

กรมการขนส่งทางบกมีแผนเปิดให้บริการโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ในช่วงปี 2568 โดยบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มาอย่างยาวนานจะเข้ามาบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance : O&M) และจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ เป็นเงินรวมกว่า 298 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี ตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน (PPP)

โดยที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดนครพนมที่ช่วยผลักดันให้โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งต่าง ๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้จังหวัดนครพนมเป็น “ศูนย์กลางทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดนครพนมและจังหวัดข้างเคียงได้อีกมากในอนาคต