ผู้ชมทั้งหมด 7,862
ขบ.ผนึกรฟท.บูรณาการเชื่อมโยงขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อทางบก ทางราง นำร่องสถานีขนส่งสินค้าชายแดนนครพนม และเชียงของ คาดเริ่มปี 71 หวังช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปลาว เวียดนาม จีน เติบโต
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง อย่างไร้รอยต่อ ระหว่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยระบุว่า ความร่วมมือการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง อย่างไร้รอยต่อ
โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่อยู่ในการกำกับดูแล ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเร่งรัดให้สามารถเปิดให้บริการโครงการต่างๆ ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคต่อไป
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีแผนในการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนน เพื่อรองรับกิจกรรมการรวบรวมและกระจายสินค้า บนเส้นทางยุทธศาสตร์และพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเมืองหลักและจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงคมนาคมในการยกระดับการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อจึงได้ร่วมมือกับ รฟท. บูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
ทั้งนี้การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายใต้ความร่วมมือกับรฟท. นั้นจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โดยในปัจจุบัน ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม นั้นอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและเอกชน (PPP) รับผิดชอบ โดยมีความคืบหน้าราว 32.6% โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนมนั้นจะเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม
ส่วนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 และอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีแผนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในเดือนเมษายน 2567 โดยโครงการนี้จะเชื่องโยงกับเส้นทางรถไฟโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 เส้นทางนั้นคาดว่าจะเริ่มเชื่อมต่อระบบขนส่งกันได้ในปี 2571 หลังจากที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ
นายจิรุตม์ กล่าวว่า หลังจากสถานีขนส่งสินค้าทั้งสองแห่งเมื่อแล้วเสร็จและเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟคาดว่าจะช่วยให้มูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการส่งออกไปยังสปป.ลาว เวียดนาม และจีน จากปัจจุบันตามสถิติของด่านศุลกากรนครพนม ระหว่าง ม.ค. – ก.ย. 66 มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกราว 94,650 ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของด่านเชียงของอยู่ที่ 61,453
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่กระทรวงคมนาคมได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของ ผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของสินค้าได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเปิดประตูการค้า การลงทุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันรฟท.ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายระบบราง ทั้งโครงการรถไฟสายใหม่ และโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนอย่างเต็มที่