ผู้ชมทั้งหมด 46
“ขนส่ง” ร่วมประชุมด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 ดันมาตรการรับมือลดพฤติกรรมการเสี่ยงในการขับขี่ หวังลดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ12 คน ต่อหนึ่งแสนประชากร ในปี 70 พร้อมทุ่มงบฯ กปถ.320 ล้านให้ท้องถิ่นทั่วประเทศรณรงค์สร้างทัศนคติเรื่องความปลอดภัย
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/DSC08829-1024x683.jpg)
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท นายจิรุตม์ วิศาลจิต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุมด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Road Traffic Safety Forum) หัวข้อมาตรการรับมือเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย Thailand Accident Research Center หรือ TARC โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรสำคัญด้านอุบัติเหตุ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยที่มีค่อนข้างสูงและพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่
ดังนั้นศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย โดยในส่วนของ ขบ.ได้นำผลวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะผลวิจัยที่ระบุว่าคนไทยยังขาดทันคติเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการคาดการณ์อุบัติเหตุล่วงหน้าว่า เมื่อมีลักษณะทางถนนเป็นอย่างไรที่ต้องระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้
ดังนั้นขบ.ได้นำเรื่องนี้ไปเพิ่มในเนื้อหาการอบรมขอใบอนุญาตใบขับขี่ และปรับปรุงข้อสอบที่เป็นข้อเขียนให้มีเรื่องคาดการณ์อุบัติเหตุล่วงหน้าไว้ด้วย ทั้งนี้หวังว่าการประชุมดังกล่าวจะไปสู่การกำหนดมาตรการรับมือลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้การลดอุบัติทางถนนสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คน ต่อหนึ่งแสนประชากร ในปี 2570 ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/DSC08870-1024x683.jpg)
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2025/02/DSC08866-1024x683.jpg)
นอกจากนี้ ขบ.เล็งเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งมี 2 มิติ คือ 1. การปลูกฝังจิตสำนึกโดยการปรับพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก เช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีการเรียนการสอนให้ตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ระดับอนุบาล และ2.การบังคับใช้กฎหมายขั้นรุนแรงเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น การลงโทษ จับกุมขัง ขึ้นศาลหรือปรับขั้นรุนแรง เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยอยู่ระหว่างรอยต่อก็คงต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งการปรับพฤติกรรมและการบังคับใช้กฎหมายขั้นรุนแรง เพื่อให้ได้ผลอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ยังเห็นความสำคัญเรื่องการรณรงค์สร้างทัศนคติเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เนื่องจากที่ผ่านมาการรณรงค์มักเกิดขึ้นในเขตเมืองไปไม่ถึงท้องถิ่น ทั้งนี้ในท้องถิ่นมีอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ (จยย.) จำนวนมาก ดังนั้น ขบ.จึงได้จัดสรรเงินกองทุนกปถ.ปี 68 จำนวน 320 ล้านบาทกระจายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปรณรงค์สร้างทัศนคติเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ชนบท ซึ่งจะทำให้เกิดกรปรับพฤติกรรมการขับขี่ให้ดีขึ้นได้