“ขนส่ง” ขานรับนโยบาย “สุรพงษ์” กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยยานยนต์ระดับสากล

ผู้ชมทั้งหมด 7,517 

กรมการขนส่งทางบก ขานรับนโยบาย “สุรพงษ์” กำหนดให้ระบบห้ามล้อของรถยนต์ และการติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง อุปกรณ์แสงสัญญาณของรถจักรยานยนต์สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกพัฒนาปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์เพื่อให้รถมีความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทียบเท่ามาตรฐานสากล เช่น ข้อกำหนดสหประชาชาติ (UN Regulations) ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นการส่งเสริมให้บรรลุผลตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety 2021-2030)

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศหลายฉบับ อาทิเช่น มาตรวัดความเร็ว (UNR39) อุปกรณ์มองภาพรถจักรยานยนต์ (UNR81) กระจกนิรภัย (UNR43) แตรสัญญาณ (UNR28) จุดยึดเข็มขัดนิรภัย (UNR14) การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย (UNR16) ที่นั่งและจุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะ (UNR17) ระบบห้ามล้อรถจักรยานยนต์ (UNR78) ระดับเสียง (UNR41/51) และความปลอดภัยทางไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (UNR100/136) เป็นต้น ซึ่งส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับการรับรองแบบจากกรมการขนส่งทางบกก่อน รถจึงจะสามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานบนท้องถนนได้

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้เดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถอย่างต่อเนื่อง และได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบกเพิ่มเติม 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ประกาศระบบห้ามล้อรถยนต์(1) (สอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 13H หรือ UN Regulation No.13H) เพื่อกำหนดมาตรฐานของระบบห้ามล้อรถยนต์ เช่น อุปกรณ์ห้ามล้อ ระบบห้ามล้อหลัก ระบบห้ามล้อสำรอง ระบบห้ามล้อขณะจอด และระบบป้องกันล้อล็อก (Anti-lock system) เป็นต้น และ 2) ประกาศการติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่างและอุปกรณ์แสงสัญญาณของรถจักรยานยนต์(2) (สอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 53 หรือ UN Regulation No.53) เพื่อกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ส่องสว่างและอุปกรณ์แสงสัญญาณของรถจักรยานยนต์ รวมทั้ง สี จำนวน ตำแหน่ง การมองเห็น ทิศทางการส่องของแสง  และสัญญาณแสดง (Tell-tales) โดยประกาศกรมการขนส่งทางบกทั้ง 2 ฉบับ จะเริ่มมีผลใช้บังคับกับแบบรถใหม่ที่ผลิต ประกอบ หรือนำเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่าในการจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถยนต์นั่ง (ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 9 ที่นั่ง) รถยนต์บรรทุก (ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม) และรถจักรยานยนต์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “จำหน่าย” หรือ “ใช้เองเกินกว่าจำนวนที่กำหนด” (3 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถยนต์ และ 5 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถจักรยานยนต์) ต้องขอรับรองแบบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถกับกรมการขนส่งทางบกก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้

โดยผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถต้องจัดเตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอรับรองแบบ เช่น เอกสารแสดงข้อมูลรายละเอียดรถ รายงานผลการทดสอบ และเอกสารแสดงการตรวจสอบการผลิตให้เป็นไปตามต้นแบบ รวมทั้ง เตรียมรถต้นแบบเพื่อเข้ารับการตรวจสอบ สามารถยื่นขอรับรองแบบ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มมาตรฐานยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อาคาร 6 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 0-2271-8603 หรือเว็บไซต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ https://aeb.dlt.go.th/th อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด